“เป็นยาเสพติดประเภท 5…ที่ไม่เป็น”
เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศให้การปลูกพืชในวงศ์กัญชาเพื่อจุดประสงค์ในทางการแพทย์ไม่เป็นเรื่องผิดกฎหมายอีกต่อไปหากแต่ต้องทำการขออนุญาตและได้รับการอนุมัติจากภาครัฐอย่างเป็นทางการก่อน
ภาพ: Cannabe420
หนึ่งในเนื้อความสำคัญคือมีมติถอดใบ ก้าน ลำต้น รากของต้นกัญชงและกัญชาให้พ้นจากสภาพความเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ทำให้หลังจากมีประกาศออกไปนั้น นักปลูกหลาย ๆ คนที่ติดตามข่าวรวมถึงตัวพี่หมีก็ต่างเข้าใจว่านี่คือการทำให้กัญชาถูกกฎหมายซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดเพราะสธ.ได้ออกมายืนยันแล้วว่ากัญชายังอยู่ในรายการยาเสพติดประเภทที่ 5 เหมือนเดิม
แก้ไขรายละเอียดให้ปลูกได้
ภาพ: มติชนสุดสัปดาห์
เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2020 รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นายอนุทิน ชาญวีรกูล ได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง “ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2563” เพื่อเป็นการยืนยันสถานะทางกฎหมายของกัญชาและกัญชงไว้เช่นเดิม
ประกาศฉบับนี้มีใจความสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่
- ยกเลิก
(1) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2563 ลงวันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ.2561
(2) ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2562 ลงวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2562
- เปลือก ลำตัน เส้นใย กิ่งก้าน ราก และใบซึ่งไม่มียอดหรือช่อดอกติดมาด้วยและวัตถุหรือสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพืชกัญชา (cannabis) และกัญชง (hemp) เช่น ยาง น้ำมัน เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศ ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 นอกจากนี้ยังครอบคลุมไปถึงฝิ่นและกระท่อมอีกด้วย
- ยกเว้นโทษกรณีตรวจพบสารของกัญชาและกัญชงในร่างกายเพื่อจุดประสงค์ทางการแพทย์
อ่านประกาศฉบับเต็ม คลิกที่นี่
กล่าวโดยสรุปคือเราจะสามารถปลูกกัญชาหรือกัญชงถูกกฎหมายได้ผู้ปลูกต้องผ่านการพิจารณาและได้รับอนุญาตจากกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น กัญชานอกระบบจะกลายเป็นของผิดกฎหมายและผู้ที่มีไว้ในครอบครองจะเสี่ยงต้องโทษยาเสพติด
เพจ ThaiLaws ลงข้อมูลไว้ว่าผู้ที่มีกัญชาไว้ในครอบครองต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่ถ้ามีมากกว่า 10 กก.ขึ้นไป จะถือว่าครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งจะมีโทษจำคุก 2 ถึง 15 ปี และปรับ 200,000 ถึง 1,500,000 บาท
บังคับใช้ 17 ธันวาคมนี้
ภาพ: สสส.
เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงข้อกฎหมายเกี่ยวกับกัญชาได้รับการบังคับใช้และเป็นที่รับรู้ในวงกว้าง รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ภญ.สุภัทรา บุญเสริม เปิดเผยกับเว็บไซต์ข่าวมติชนว่าจะนำประกาศที่รัฐมนตรีได้ลงนามเรียบร้อยแล้วไปบรรจุเป็นราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 16 ที่จะถึงนี้
“เมื่อลงเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลบังคับใช้ในวันรุ่งขึ้น หรือในวันที่ 17 ธันวาคม โดยในวันเดียวกันนี้ อย.จะนำความตามประกาศราชกิจจานุเบกษาแถลงข่าวเพื่อให้ประชาชนรับทราบเพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน”
เรียกได้ว่าประเทศไทยของเรากำลังขับเคลื่อนเรื่องกัญชาไปพร้อม ๆ กับประชาคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่องค์การสหประชาชาติมีมติถอนกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดร้ายแรงเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา
เรื่องกัญชาน่ารู้
- วิธีการผลัดใบ (Defoliation) ต้นกัญชาเพื่อเพิ่มผลิตผลแบบมือโปร
- โรคในต้นกัญชาที่พบได้บ่อยจากศัตรูพืช แมลง ไวรัส และวิธีรักษาเบื้องต้น (ตอนที่ 1)
- กัญชาใบเหลือง เกิดจากอะไร? แก้ไขยังไงดี?
ข่าวสารและอื่น ๆ
- ประโยชน์ของกัญชงทำให้เกิด ‘Levi’s สายเขียว’ เพราะดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าผ้าฝ้าย
- LOEWE ใช้ ‘กัญชา’ มาทำเทียนหอม-สเปรย์ปรับอากาศ
- 15 ต้นไม้ประดับในบ้านที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยงแสนรักของเรา
ขอบคุณข้อมูลจาก Matichon | iLaw | ThaiLaws
ภาพหน้าปกดัดแปลงจาก: Diego PH
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของเราสามารถคอมเม้นต์ข้างล่างหรือทักไปที่ Facebook ของเราได้เลย