เทคนิคการปลูก

โรคในต้นกัญชาที่พบได้บ่อยจากศัตรูพืช แมลง ไวรัส และวิธีรักษาเบื้องต้น (ตอนที่ 1)

Head โรคในต้นกัญชาที่พบได้บ่อยจากศัตรูพืช แมลง ไวรัส และวิธีรักษาเบื้องต้น ตอนที่ 1

ตำรารวมโรคต้นกัญชา


เมื่อพูดถึงเรื่องน่าปวดหัวสำหรับนักปลูกหลาย ๆ คนแล้ว พี่หมีเชื่อว่าต้องหนีไม่พ้นโรคสารพัดชนิดที่เข้ามาจู่โจมทำร้ายต้นกัญชาของเรา ส่งผลให้เติบโตช้าหรือแม้กระทั่งตายไปเลยก็มี โดยหลาย ๆ ครั้งก็เกิดจากความไม่รู้ของเราเอง

ด้วยเหตุนี้พี่หมีจึงรวบรวมวิธีการสังเกตอาการของโรคในต้นกัญชาที่เราพบได้บ่อย ๆ ซึ่งมักเกิดจากศัตรูพืช แมลง ไวรัส รวมถึงวิธีการรักษาเบื้องต้นมาให้นักปลูกทุกคนได้อ่านทำความเข้าใจกัน เพื่อที่ว่าต้นกัญชาของทุก ๆ คนมีอาการเหล่านี้ ก็จะสามารถหาวิธีดูแลได้ทันท่วงที

ถ้าเสียงตอบรับของบทความนี้ดี พี่หมีรับรองว่ารวม “โรคในต้นกัญชา” ตอน 2 ตามมาแน่นอน


ราแป้ง (White Powdery Mildew)


โรคในต้นกัญชา
ราแป้ง (White Powdery Mildew)

ภาพ: Almanac

ในขณะเชื้อราดีสามารถเสริมความแข็งแกร่งให้ต้นกัญชาของเราได้ เชื้อราร้ายอย่าง ราแป้ง (White Powdery Mildew) ก็เกิดมาเพื่อทำลายเช่นกัน 

ราแป้งเกิดจากเชื้อราที่สามารถสืบพันธุ์ได้โดยอาศัยเพศและไม่อาศัยเพศ ซึ่งจะมีเป้าหมายในชีวิตอยู่ 2 อย่างคือ กินต้นกัญชาและสืบพันธุ์ไปเรื่อย ๆ – เฮ้ย นี่มันความมันความฝันของใครหลาย ๆ คนหรือเปล่า? 

สาเหตุ

  • ความชื้นสูง
  • การถ่ายเทของอากาศไม่ดีหรือไม่มีเลย
  • ระบบระบายอากาศไม่ดี
  • มีการสัมผัสกันของใบ

อาการ

พี่หมีว่าเราโชคดีนะครับที่ราแป้งนั้นสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าง่าย ๆ โดยเจ้าราที่ว่านี้จะมีลักษณะเป็นฝุ่นแป้งขาว ๆ เกาะอยู่บนต้นสีเขียว 

วิธีแก้ไขเบื้องต้น

  1. เช็ดราขาว ๆ ออก โดยใช้กระดาษชำระบิดน้ำหมาด ๆ และเช็ดบริเวณที่มีราขาวอย่างระมัดระวัง โดยพยายามอย่าไปโดนใบอื่น ๆ ที่มีราอยู่เพราะจะทำให้รากระจายได้ เหตุผลที่ต้องเลือกใช้เพราะจะได้ลดโอกาสการนำสปอร์ไปติดใบอื่น ๆ ดังนั้นควรใช้หนึ่งแผ่นต่อหนึงใบนะครับ 
  2. สร้างสภาพแวดล้อมที่มีอากาศถ่ายเท โดยทางที่ดีที่สุดคือติดตั้งระบบระบายอากาศ แต่ถ้าใครไม่พร้อม พี่หมีมีคำแนะนำคือให้ใช้พัดลม (ตัวเล็กก็ได้นะ) 2 ตัว ๆ หนึ่งเปิดเบอร์เบาสุดและตั้งส่ายไว้หน้าต้นกัญชาเพื่อให้สร้างอุปสรรคไม่ให้สปอร์ก่อตัวอีก อีกตัวให้เปิดเบอร์แรงสุด หันหน้าออกทางหน้าต่างห้องปลูกเพื่อถ่ายเทอากาศภายในห้อง 
  3. กำจัดสปอร์บนต้นที่ติดเชื้อราด้วยการผสมน้ำยา (อันนี้พี่หมีแนะนำให้ไปปรึกษาผู้เชี่ยวชาญตามความเหมาะสมเลยครับ) ในฟ็อกกี้หรือตัวสเปรย์ตามสัดส่วนที่ระบุไว้บนฉลาก พ่นยาให้ทั่วต้นแม้จะไม่ใช่บริเวณที่มีราก็ตามเพราะบางทีเราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า  

แมลงหวี่ขาว (Whitefly)


โรคในต้นกัญชา
แมลงหวี่ขาว (Whitefly)

ภาพ: Gea Seeds

แม้ว่าแมลงหวี่ขาว (Whitefly) จะมีรูปร่างหน้าตาและสีที่ดูบริสุทธิ์ แต่ถ้าหากนักปลูกปล่อยไว้แล้วล่ะก็ มีจะยึดพื้นที่ได้ใบกัญชาวางไข่ขยายพันธุ์ ในขณะเดียวกันพวกมันก็จะดูดสารอาหารจากต้นไม้ของเรา ทำให้พืชโตช้าและเกิดรอยด่างสีขาวบริเวณฝั่งด้านบนของใบ

สาเหตุ

สาเหตุไม่ได้มีความสลับซับซ้อนอะไรมาก เพียงแต่เจ้าแมลงต้องการหาที่อยู่เท่านั้น แต่สาเหตุหลักที่ทำให้ปัญหาบานปลายคือการละเลยไม่สนใจของเราเองครับ

อาการ

โรคในต้นกัญชา

ภาพ: Gea Seeds

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าเจ้าแมลงหวี่ขาวจะวางไข่ใต้ใบ ไข่ของพวกมันจะมีสีขาวเกาะแน่นอยู่ในบริเวณดังกล่าว โดยในช่วงนี้นักปลูกจะเริ่มเห็นแมลงสีขาว ๆ บินวนไปมาอยู่บริเวณต้นกัญชาของเรา หรือถ้าเห็นแมลงบินแต่ไม่เห็นไข่ใต้ใบก็อย่าเพิ่งชะล่าใจเด็ดขาดนะครับ พี่หมีขอเตือน

วิธีแก้ไขเบื้องต้น

เมื่อคิดว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับเจ้าแมลงหวี่ขาว นักปลูกลองเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งด้านล่างตามที่ตัวเองพึงพอใจเพื่อสู้กับมันนะครับ

  • สบู่ฆ่าแมลง เป็นตัวเลือกที่เหมาะในการใช้ขจัดแมลงหวี่ขาว มันจะทำให้เปลือกของไข่อ่อนแอและหลุดออกจากใบในขณะที่ไม่ทิ้งสารตกค้างมากเกินไป อาจจะต้องมีการใช้มากกว่าหนึ่งครั้งเพราะสบู่จะเกาะอยู่บนพืชไม่นานเท่าไหร่ นอกจากนี้พยายามอย่าฉีดไปโดนดอกนะครับ 
  • น้ำมันสะเดา เป็นตัวเลือกสำหรับหนักปลูกที่พยายามหลีกเลี่ยงเคมี มีความสามารถในการขับไล่แมลงรบกวนต่าง ๆ เพราะกลิ่นขมของมัน แต่ด้วยเหตุนี้เองควรระวังไม่ฉีดน้ำมันสะเดาลงบนดอกกัญชาเช่นกัน ผสมน้ำมันสะเดากับน้ำในฟ็อกกี้ตามสัดส่วนที่เหมาะสมและฉีดใต้ใบให้ทั่ว
  • ผลิตภัณฑ์ฆ่าแมลงประเภท Spinosad เป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคที่ปลอดภัยต่อคนและสัตว์ ที่สำคัญสามารถฆ่าแมลงหวี่ขาวได้ทันทีที่สัมผัสตัวแมลง สามารถใช้ฉีดได้ทั่วต้น ใครที่มีสัตว์หรือแม้กระทั่งเด็กในบ้านพี่หมีแนะนำตัวนี้เลยครับ

ตั๊กแตนจอมทำลาย (Grasshoppers)


โรคในต้นกัญชา
ตั๊กแตนจอมทำลาย (Grasshoppers)

ภาพ: Grow Weed Easy

เป็นที่รู้กันดีครับว่าเจ้าตั๊กแตน (Grasshoppers) เนี่ยเป็นศัตรูกับพืชทุกชนิดบนโลก เพราะสิ่งที่มันทำกับพืชพรรณต่าง ๆ คือการกัด กัด กัด แล้วก็กัดครับ ทำให้ต้นพืชเสียหายแบบตาเห็นเลย ยิ่งถ้ามันกัดบริเวณก้านจนทะลุ รับรองว่าทั้งกิ่งต้องตายแน่นอน

สาเหตุ

การที่เจ้าพวกตั๊กแตนมารุมกินต้นไม้ของเรามาจากสาเหตุเดียวคือความต้องการอาหารของพวกมันนั่นเอง โดยกัญชาที่ปลูกแบบภายนอกจะง่ายต่อการเป็นเหยื่อมากที่สุด

อาการ

โรคในต้นกัญชา

ภาพ: Grow Weed Easy

อาการของต้นกัญชาที่ถูกตั๊กแตนรุมกินนั้นชัดเจน คือจะมีส่วนที่แหว่ง ขาด ตามตำแหน่งต่าง ๆ ของลำต้นซึ่งเกิดจากการกัดกินนั่นเอง โดยส่วนที่เห็นชัดที่สุดคือบริเวณใบ ถ้านักปลูกคนใดพบเห็นความผิดสังเกตดังในรูปด้านบนนี้ รีบอ่านวิธีแก้ไขด่วนเพราะตั๊กแตนอาจจะกลับมาพร้อมเพื่อนมันก็ได้ 

วิธีแก้ไขเบื้องต้น

นักปลูกลองเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งด้านล่างตามที่ตัวเองพึงพอใจเพื่อสู้กับตั๊กแตนตัวร้ายนะครับ

  • จับด้วยมือเปล่า ในกรณีที่ผู้ปลูกรู้ว่าจำนวนของตั๊กแตนที่มากินต้นกัญชามีไม่เยอะ เช่น 2-3 ตัว สิ่งที่ทำได้ง่าย ๆ คือการรอจับมัน จากนั้นจะกินหรือเอาไปปล่อยก็แล้วแต่เลยครับ 
  • สบู่ฆ่าแมลง เป็นตัวเลือกที่เหมาะในการใช้ขจัดตั๊กแตน มันจะทำให้เปลือกของไข่อ่อนแอและหลุดออกจากต้นในกรณีที่มีการวางไข่ ไม่ทิ้งสารตกค้างมากเกินไป อาจจะต้องมีการใช้มากกว่าหนึ่งครั้งเพราะสบู่จะเกาะอยู่บนพืชไม่นานเท่าไหร่ นอกจากนี้พยายามอย่าฉีดไปโดนดอกนะครับ 
  • น้ำมันสะเดา เป็นตัวเลือกสำหรับหนักปลูกที่พยายามหลีกเลี่ยงเคมี มีความสามารถในการขับไล่แมลงรบกวนต่าง ๆ เพราะกลิ่นขมของมัน แต่ด้วยเหตุนี้เองควรระวังไม่ฉีดน้ำมันสะเดาลงบนดอกกัญชาเช่นกัน ผสมน้ำมันสะเดากับน้ำในฟ็อกกี้ตามสัดส่วนที่เหมาะสมและฉีดใต้ใบให้ทั่ว
  • ผลิตภัณฑ์ฆ่าแมลงประเภท Spinosad เป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคที่ปลอดภัยต่อคนและสัตว์ ที่สำคัญสามารถฆ่าตั๊กแตนผ่านการกินและสัมผัส สามารถใช้ฉีดได้ทั่วต้น ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือไม่ทำร้ายนักล่าแมลง เช่น แมงมุม ที่นับว่าเป็นคุณกับต้นกัญชาของเรา ใครที่มีสัตว์หรือแม้กระทั่งเด็กในบ้านพี่หมีแนะนำตัวนี้เลยครับ

รากเน่า (Root Rot)


โรคในต้นกัญชา
รากเน่า (Root Rot)

ภาพ: Grow Doctor Guides

รากเน่า (Root Rot) เป็นปัญหาโลกแตกของผู้ปลูกกัญชาแบบไฮโดรโปลิก ส่งผลให้ต้นกัญชาแคระแกร็น ใบหงิกงอ เนื่องจากรากที่เสียไม่สามารถทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนขึ้นไปเลี้ยงบริเวณลำต้น กิ่ง ก้าน ใบ และดอกของต้นไม้ได้เพียงพอ 

แต่นักปลูกกัญชาในดินอย่าวางใจไป เพราะปัญหารากเน่าสามารถพบได้ในพืชกระถางเช่นกัน

สาเหตุ

อาการรากเน่าเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งส่งผลให้ตัวรากไม่แข็งแรงแต่จะมีอาการแตกต่างกันไปเล็กน้อย อย่างไรก็ดีนักปลูกส่วนมากจะเรียกอาการที่รากไม่แข็งแรงทุกประเภทว่า “รากเน่า” 

อาการรากเน่าในกัญชาที่ปลูกด้วยเทคนิคไฮโดรโปลิกมักมีสาเหตุดังนี้:

  • ความอุ่นของน้ำที่เหมาะกับการเจริญเติบโตของเชื้อราและแบคทีเรีย
  • แสงเล็ดลอดเข้ามาในถังเก็บน้ำ ช่วยทำให้เกิดการเติบโตของสิ่งมีชีวิตที่เราไม่ต้องการ
  • การขาดออกซิเจน แน่นอนว่าจะทำให้ทุกอย่างในน้ำเน่า
  • รากมีอายุน้อยและอ่อนแอเกินไป
  • มีสิ่งสกปรกในถังเก็บน้ำ

อาการรากเน่าในกัญชาที่ปลูกโดยการใช้ดินมักมีสาเหตุดังนี้:

  • การรดน้ำมากเกินไป
  • รากมีความอ่อนแอหรือขาดสารอาหารที่จำเป็น

อาการ

โรคในต้นกัญชา
ซ้าย: รากเน่า – ขวา: รากสุขภาพดี

ภาพ: Grow Doctor Guides

อาการของรากเน่ามีตั้งแต่รากเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล เมื่อจับแล้วมีความลื่นเป็นเมือก ใบหงิกงอ มีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ซึ่งจะเป็นอาการร่วมหลัก ๆ ของอาการรากไม่แข็งแรง ไม่ว่าจะมีสาเหตุใดก็ตาม 

แน่นอนว่าอาการรากเน่าในกัญชาที่ปลูกโดยการใช้ดินจะดูยากกว่า แต่มักจะมีอาการใบหงิกงอ และที่สำคัญนักปลูกต้องรู้ตัวว่าตัวเองรดน้ำเกินขนาดหรือเปล่า

วิธีแก้ไขเบื้องต้น

วิธีแก้อาการรากเน่าในกัญชาที่ปลูกด้วยเทคนิคไฮโดรโปลิก

  • เพิ่มเชื้อราหรือแบคทีเรียที่มีประโยชน์ลงไปในน้ำเพื่อช่วยเพิ่มอัตราการดูดซึมสารอาหารและออกซิเจนของราก ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำทั้งในการปลูกแบบไฮโดรโปลิกหรือดินก็ตาม
  • เพิ่มออกซิเจนในถังเก็บน้ำด้วยการเลือกซื้อปั๊มพ์ขนาดกลางขึ้นไปและหินกระจายอากาศขนาดใหญ่สำหรับระบบไฮโดรโปลิกของคุณ การมีอากาศที่เพียงพอจะช่วยให้พืชโตเร็วอีกด้วย
  • แก้ไขปัญหาแสงรอดด้วยการใช้ถังกันแสงโดยคำนึงถึงความหนา ใช้อุปกรณ์สีทึบทั้งหมด เช่น สายยางและเทป นอกจากนี้ผู้ปลูกต้องมั่นตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ
  • รักษาอุณหภูมิให้ต่ำ โดยอย่างน้อยน้ำในถังไม่ควรมีอุณหภูมิสูงกว่า 22 องศาเซลเซียส
  • รักษาความสะอาดไม่ให้สิ่งแปลกปลอมเข้าไปเน่าในถังได้

วิธีแก้อาการรากเน่าในกัญชาที่ปลูกในดิน

  • เพิ่มเชื้อราหรือแบคทีเรียที่มีประโยชน์ลงไปในน้ำเพื่อช่วยเพิ่มอัตราการดูดซึมสารอาหารและออกซิเจนของราก ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำทั้งในการปลูกแบบไฮโดรโปลิกหรือดินก็ตาม
  • ลดการให้น้ำที่มากจนเกินไป
  • ใช้อุปกรณ์ที่ช่วยในการระบายน้ำ รักษาอุณหภูมิของราก เช่น Smart Pots ของเรา

จิ้งหรีดตัวร้าย (Crickets)


โรคในต้นกัญชา
จิ้งหรีดตัวร้าย (Crickets)

ภาพ: Grow Weed Easy

แม้ว่าจิ้งหรีด (Crickets) จะไม่ใช่แมลงศัตรูพืชที่นักปลูกมีโอกาสพบได้มากเท่ากับตั๊กแตน แต่พิษสงของมันก็ร้ายไม่น้อยไปกว่ากัน ดีไม่ดีอาจจะเลวร้ายกว่าเพราะว่านอกจากกัดกินใบและลำต้นแล้ว จิ้งหรีดสามารถชอนไชกัดกินได้แม้กระทั่งรากของต้นกัญชา 

สาเหตุ

ความต้องการอาหารของพวกมันทำให้เหล่าจิ้งหรีดมารุมเปิดโต๊ะจีนที่ต้นไม้ของเรา โดยกัญชาที่ปลูกภายนอกจะง่ายต่อการเป็นเหยื่อมากที่สุด

อาการ

โรคในต้นกัญชา

ภาพ: Bearbush.it

แม้ว่าจิ้งหรีดจะทิ้งร่องรอยการแทะกินไว้เหมือนกับตั๊กแตน แต่ว่ามันมีขนาดเล็กมาก ทำให้รอยแทะและลงไปด้วย ทำให้เมื่อใดก็ตามที่เราสังเกตเห็นรูเล็กตามใบหรือลำต้น นั่นอาจจะหมายถึงต้นกัญชาของเราโดนกินมาเยอะแล้ว

วิธีแก้ไขเบื้องต้น

นักปลูกลองเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งด้านล่างที่เหมาะสมกับสถานการณ์ของตัวเองเพื่อสู้กับจิ้งหรีดนะครับ

  • จับด้วยมือเปล่า คอยดักจับเจ้าจิ้งหรีดในเวลาเย็นเพราะนี่เป็นเวลาที่พวกมันจะออกหาเหยื่อ การจับแมลงนี้เป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการยับยั้งการบุกรุกของแมลงต่าง ๆ แต่ต้องมั่นใจว่ามันไม่มีจำนวนมากเกินไป
  • กับดัก หากับดักจิ้งหรีดตามอินเตอร์เน็ตมาวางไว้บริเวณที่ปลูกต้นกัญชาของเรา แต่ถ้าเรารู้สึกว่ากับดักสมัยใหม่ไม่ได้ดั่งใจ ลองใช้วิธีพื้นบ้านคือการใช้ไฟล่อ โดยกับดักนี้จะต้องวางห่างจากบริเวณต้นกัญชาพอสมควร
  • สบู่ฆ่าแมลง เป็นตัวเลือกที่เหมาะในการใช้ขจัดจิ้งหรีดเพราะมันจะทำให้เปลือกของไข่อ่อนแอและหลุดออกจากต้นในกรณีที่มีการวางไข่ ไม่ทิ้งสารตกค้างมากเกินไป แต่อาจจะต้องมีการใช้มากกว่าหนึ่งครั้งเพราะสบู่จะเกาะอยู่บนพืชไม่นานเท่าไหร่ นอกจากนี้พยายามอย่าฉีดไปโดนดอกนะครับ 
  • ผลิตภัณฑ์ฆ่าแมลงประเภท Spinosad เป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคที่ปลอดภัยต่อคนและสัตว์ ที่สำคัญสามารถฆ่าจิ้งหรีดผ่านการกินและสัมผัส สามารถใช้ฉีดได้ทั่วต้น ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือไม่ทำร้ายนักล่าแมลง เช่น แมงมุม ที่นับว่าเป็นคุณกับต้นกัญชาของเรา ใครที่มีสัตว์หรือแม้กระทั่งเด็กในบ้านพี่หมีแนะนำตัวนี้เลยครับ

เพลี้ยอ่อน (Aphids)


โรคในต้นกัญชา
เพลี้ยอ่อน (Aphids)

ภาพ: Grow Weed Easy

เพลี้ยอ่อน (Aphids) เป็นแมลงศัตรูพืชที่มีลักษณะอ่อนนุ่มในขณะที่ยังเล็ก เมื่อโตขึ้นจะมีสีแตกต่างกันไปตามพื้นที่ที่นักปลูกอยู่อาศัย ทั้งเขียว เหลือง ดำ แดง และน้ำตาล โดยเพลี้ยบางประเภทจะมีปีกด้วย ซึ่งเจ้าเพลี้ยอ่อนนี้มีอยู่ทุกที่ในโลกเลยทีเดียว

เพลี้ยอ่อนเป็นศัตรูพืชที่พบง่ายในกัญชา โดยเจ้าแมลงเหล่านี้จะดูดสารอาหารจากส่วนต่าง ๆ ของต้นไม้ ความน่ากลัวของมันคือสามารถขยายพันธุ์โดยนำต้นกัญชาของเราเป็นรังได้ ถ้าต้นถูกรุมดูดกินมาก ๆ จะกลายเป็นสีเหลืองและเฉาลงเพราะความเครียด

ยิ่งกว่านั้น เพลี้ยเหล่านี้ยังสามารถผลิตน้ำหวานก่อให้เกิดโรคราดำ (Black Sooty Mold) ที่จะทำให้สีของกัญชาเพี้ยน อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อคนที่สูบบริเวณนั้นเข้าไปด้วย นับว่าถ้าปล่อยให้เกิดราดำก็เท่ากับว่าเราเสียผลผลิตไปเลยทีเดียว

สาเหตุ

การที่ต้นกัญชาของเราจะติดเพลี้ยได้นั้น มาจากพวกเพลี้ยที่มีปีกบินมาวางไข่ ซึ่งพวกมันทำหน้าที่เหมือนเป็น “นักล่าอาณานิคม” เพื่อสร้างเมืองหรือรังใหม่บนต้นไม้ที่เหมาะสม พวกมันมักจะมีสีดำหรือสีเขียวที่ทำให้กลมกลืนกับต้นไม้ของเราไปอีก

แน่นอนว่าต้นกัญชาที่ปลูกภายนอกจะเสี่ยงต่อการตกเป็นเป้าพวกล่าอาณานิคมเหล่านี้กว่าต้นที่ปลูกภายใน

อาการ

โรคในต้นกัญชา
ถ้าดูใกล้ ๆ จะเห็นว่ามันคือตัวอ่อนเพลี้ย

ภาพ: Grow Weed Easy

  • สังเกตแผงไข่ใต้ใบและบริเวณลำต้นของกัญชา
  • มีจุดขาว ใส ปกคลุมดอกและใบ ซึ่งในทีแรกอาจจะดูเหมือนรา แต่จริง ๆ แล้วพวกมันคือตัวอ่อนตัวเล็ก ๆ ของเพลี้ยนั่นเอง
  • เมื่อค่อย ๆ โตขึ้นจะเห็นพวกมันเดินเต็มต้นและดอกประหนึ่งเป็นบ้านของพวกมัน

วิธีแก้ไขเบื้องต้น

  1. จับตาเฝ้าระวังอาการที่กล่าวไป
  2. พยายามกำจัดออกให้มากที่สุดเมื่อเห็นว่ามีเพลี้ยอ่อนอาศัยอยู่ให้ด้วยการนำต้นกัญชาออกไปข้างนอกและใช้สเปรย์น้ำความดันสูงฉีดเพลี้ยออกจากต้น ถ้าใบหรือดอกไหนมีเพลี้ยอยู่มากเกินไปให้เด็ดทิ้ง อย่าเสียดาย
  3. สบู่ฆ่าแมลง เป็นตัวเลือกที่เหมาะในการใช้ขจัดจิ้งหรีดเพราะมันจะทำให้เปลือกของไข่อ่อนแอและหลุดออกจากต้นในกรณีที่มีการวางไข่ ไม่ทิ้งสารตกค้างมากเกินไป แต่อาจจะต้องมีการใช้มากกว่าหนึ่งครั้งเพราะสบู่จะเกาะอยู่บนพืชไม่นานเท่าไหร่ นอกจากนี้พยายามอย่าฉีดไปโดนดอกนะครับ 
  4. ผลิตภัณฑ์ฆ่าแมลงประเภท Spinosad เป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคที่ปลอดภัยต่อคนและสัตว์ ที่สำคัญสามารถฆ่าเพลี้ยได้โดยตรง สามารถใช้ฉีดได้ทั่วต้น ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือไม่ทำร้ายนักล่าแมลง เช่น แมงมุม ใครที่มีสัตว์หรือแม้กระทั่งเด็กในบ้านพี่หมีแนะนำตัวนี้เลยครับ
  5. ใช้แมลงนักล่า อาทิ เต่าทอง มาปล่อยให้จัดการกินเพลี้ยที่ยังเหลืออยู่ให้ราบคาบ โดยแมลงให้คุณเหล่านี้จะอยู่ประมาณ 1 – 2 วันก่อนจะบินไป เหมาะกับต้นกัญชาที่ปลูกภายนอก

ไรแดง (Spider Mites)


โรคในต้นกัญชา
ไรแดง (Spider Mites)

ภาพ: Grow Weed Easy

ไรแดง (Spider Mites) เป็นแมลงในตระกูลไรที่มีความเชื่อมโยงกับแมงมุมและเห็บ (พี่หมีปวดหัวและกลัวในเวลาเดียวกัน) ซึ่งเจ้าไรแดงเหล่านี้จะใช้ปากน้อย ๆ ดูดสารอาหารจากส่วนต่าง ๆ ของต้นซึ่งเจ้าแมลงชนิดนี้เป็นอีกหนึ่งศัตรูพืชที่พบได้ทั่วไปในกัญชาและเป็นพวกที่สร้างความปวดหัวให้นักปลูกมากที่สุดเช่นกัน เพราะ

  • สามารถสืบพันธุ์ได้รวดเร็ว
  • แกล้งหายหรือตายหลังจากที่เราพยายามกำจัด ก่อนที่จะกลับมาใหม่
  • กินเยอะมาก ในกรณีที่ต้นกัญชาถูกไรแดงยึดครองมากเกินไป สามารถทำให้ต้นตายได้ภายในคืนเดียว
  • ใย ซึ่งเหมือนใยแมงมุม จะแสดงให้เห็นเมื่อมันเริ่มรุกรานเราหนัก
  • ตายยาก ถ้านักปลูกไม่กำจัดมันให้หมดภายในครั้งเดียว มันจะกลับมาและทนทานต่อสารที่คุณใช้กับมันมากขึ้น และมันอาจจะพัฒนาไปเป็น “ซูเปอร์ไร” – พี่หมีไม่ได้พูดเล่น – ซึ่งจะมีจุดสองจุดอยู่บนหลังของมันและกำจัดยากกว่าไรแดงทั่วไปหลายเท่า

อาการ

โรคในต้นกัญชา

ภาพ: Grow Weed Easy

  • จุดสีเหลือง ๆ ปรากฏขึ้นบนต้นและใบ เกิดจากการที่ไรดูดอาหารจากต้นกัญชา
  • หากปล่อยไว้จะเกิดเส้นใยคล้ายใยแมงมุมบนต้นและใบกัญชาของเรา

วิธีแก้ไขเบื้องต้น

จำไว้ว่ายิ่งพบเจ้าไรแดงเร็วเท่าไหร่ ยิ่งกำจัดมันง่ายเท่านั้น จากนั้นปฏิบัติดังนี้

  1. กำจัดมันให้มากที่สุดโดยใช้พัดลมเป่าพวกไรออกไปจากต้น โดยนำต้นไปไว้ข้างนอกและอย่าลืมเป่าอุปกรณ์การปลูกด้วย จากนั้นเลือก 1 วิธีการจากวิธีการต่อไปนี้
  • เฟนไพรอกซิเมต (fenpyroximate, Acarocode) หรือออทุส หาได้ทั่วไปในไทย ตัวนี้จัดการได้ค่อนข้างดี แต่เป็นสารอันตราย ใช้เมื่อจำเป็นจริงๆเท่านั้น และไม่คววรใช้ในช่วงทำดอกเพราะสารจะตกค้างในดอกมาก
  • ผลิตภัณฑ์ฆ่าแมลงประเภท Spinosad เป็นผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคที่ปลอดภัยต่อคนและสัตว์ สามารถใช้ฉีดได้ทั่วต้นโดยไม่ต้องกังวลถึงผลกระทบต่อตัวต้นและสามารถฆ่าไรแดงได้ทันทีที่สัมผัส ข้อดีอีกอย่างหนึ่งคือไม่ทำร้ายนักล่าแมลง เช่น แมงมุม ใครที่มีสัตว์หรือแม้กระทั่งเด็กในบ้านพี่หมีแนะนำตัวนี้เลยครับ
  • ใช้นักล่าตามธรรมชาติ เช่น เต่าทอง ตัวฮั่ม ซึ่งเหมาะกับระยะเริ่มแรกมากกว่า
  • สบู่ฆ่าแมลง จะทำให้เปลือกของไข่อ่อนแอและหลุดออกจากใบในขณะที่ไม่ทิ้งสารตกค้างมากเกินไป อาจจะต้องมีการใช้มากกว่าหนึ่งครั้งเพราะสบู่จะเกาะอยู่บนพืชไม่นานเท่าไหร่ นอกจากนี้พยายามอย่าฉีดไปโดนดอกนะครับ 
  • น้ำมันสะเดา สาบเสือ เป็นตัวเลือกสำหรับหนักปลูกที่พยายามหลีกเลี่ยงเคมี มีความสามารถในการขับไล่แมลงรบกวนต่าง ๆ เพราะกลิ่นขมของมัน แต่ด้วยเหตุนี้เองควรระวังไม่ฉีดน้ำมันสะเดาลงบนดอกกัญชาเช่นกัน ผสมน้ำมันสะเดากับน้ำในฟ็อกกี้ตามสัดส่วนที่เหมาะสมและฉีดใต้ใบให้ทั่ว

เสร็จแล้วทำความสะอาดห้องและทุกอย่างในห้อง รวมทั้งอุปกรณ์ปลูก ด้วยไฮเตอร์โดยผสมอัตราส่วน 1 ช้อนโต๊ะต่อน้ำ 1 แกลลอน โดยสเปรย์ให้ทั่วทุกพื้นผิว

  1. เมื่อผ่านไป 2 – 3 วันให้ใช้วิธีที่ยังไม่เคยใช้ในข้อหนึ่งในการกำจัดไรแดงที่เหลืออยู่ แต่ให้คงการใช้พัดลมเป่าและทำความสะอาดห้องด้วยไฮเตอร์ไว้
  2. ทำข้อ 1 และ 2 อีกครั้ง และอย่าลืมทำความสะอาดบริเวณที่ปลูกแม้จะคิดว่าไรแดงไม่อยู่แล้ว
  3. หมั่นสอดส่องดูแลพื้นที่ที่ปลูก ตัวต้นและดอก ไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยอีก

หนอนผีเสื้อ (Caterpillars)


โรคในต้นกัญชา
หนอนผีเสื้อ (Caterpillars)

ภาพ: Royalqueenseeds

หนอนผีเสื้อ (Caterpillars) คือระยะตัวอ่อนของแมลงบินและผีเสื้อที่เรามักพบได้ทั่วไป เหมือนกับการจู่โจมของแมลงชนิดอื่น ๆ หนอนผีเสื้อจะกัดแทะต้นกัญชาของเราจนเป็นรู แม้จะไม่ได้สร้างอันตรายมากมาย แต่ถ้าปล่อยไว้ก็อาจจะเกิดปัญหาบานปลายได้ เช่น การหยุดเติบโตของพืช

สาเหตุ

การหาอาหารตามธรรมชาติ โดยกัญชาที่ปลูกภายนอกจะง่ายต่อการเป็นเหยื่อมากที่สุด

อาการ

โรคในต้นกัญชา

ภาพ: Royalqueenseeds

อาการของต้นกัญชาที่ถูกหนอนน้อยแทะนั้นไม่ต่างกับรอยที่ตั๊กแตนฝากไว้ ซึ่งอาจจะมีขนาดใหญ่กว่ารอยจริ้งหรีด มีส่วนของต้นที่แหว่ง ขาด โดยส่วนที่เห็นชัดที่สุดคือบริเวณใบ ถ้านักปลูกคนใดพบเห็นความผิดสังเกตดังในรูปด้านบนนี้ รีบแก้ไขโดนด่วน

วิธีแก้ไขเบื้องต้น

  • จับด้วยมือเปล่า การจับแมลงกวนด้วยมือเป็นวิธีการที่ดีที่สุดเพราะไม่ต้องเสียเงินซื้อสารเคมีหรือยาต่าง ๆ ที่สำคัญเจ้าหนอนผีเสื้อมักเคลื่อนไหวช้าและมองเห็นได้ชัดด้วยสีสันของมัน
  • ผลิตภัณฑ์ฆ่าหนอนผีเสื้อโดยแบคทีเรีย แม้จะฟังดูโหดร้ายแต่การใช้วิธีนี้เหมาะกับการใช้กำจัดหนอนผีเสื้อที่มีจำนวนมาก โดยแบคทีเรียจะทำให้เจ้าหนอนไม่สามารถกินอาหารได้และตายลง ไม่เป็นอันตรายต่อสัตว์นักล่าที่ให้คุณอย่างแมงมุม สามารถใช้ฉีดทุกสัปดาห์จนกว่าจะไม่เห็นเจ้าหนอนอีกต่อไป

กันไว้ดีกว่าแก้


การปลูกโดยควบคุมสภาพแวดล้อมเป็นอีกวิธีหนึ่งในการลดความเสี่ยงการเกิดโรคในต้นกัญชา เพราะว่าเราสามารถควบคุมสารอาหาร อุณหภูมิ แสง และอื่น ๆ ได้ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่าดีกว่ามานั่งรักษาโรคต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในภายหลัง ซึ่งนับว่าน่าปวดหัวเอาการเลยทีเดียว

ถ้าหากต้นกัญชาของใครกำลังประสบปัญหาโรครุมเร้าต่าง ๆ พี่หมีขอให้หายไวไว เป็นกำลังใจให้นักปลูกทุกคนครับ ฮึบ !

เรื่องกัญชาน่ารู้

ข่าวสารและอื่น ๆ

ขอบคุณข้อมูลจาก Grow Weed Easy | Royal Queen Seeds


ภาพหน้าปกดัดแปลงจาก: Grow Weed Easy, Airo Clean 420, Achimia
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของเราสามารถคอมเม้นต์ข้างล่างหรือทักไปที่ Facebook ของเราได้เลย

#กัญชาใบไหม้เกิดจากอะไร #โรค และแมลง ใน กัญชา #ใบกัญชาหงิกงอ #ใบกัญชาเป็นจุดเหลือง

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *