การเกษตร

ไมโครกรีนคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และมีอะไรบ้าง

ไมโครกรีนคืออะไร
ไมโครกรีนคืออะไร เป็นผักหรือเปล่า กินได้ไหม มีประโยชน์อย่างไร จะมาแทนที่ผักสลัดได้มั้ย??? นี่คงเป็นคำถามแรกๆที่หลายคนสงสัย ไมโครกรีนเริ่มต้นในแคลิฟอร์เนียในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 ก่อนที่จะกลายเป็นกระแสหลักมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การปลูกและรับประทานพืชไมโครกรีนในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ในบทความนี้พี่หมีจะพาเพื่อนๆไปทำความรู้จักไมโครกรีนว่ามันคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร มีพืชอะไรบ้าง ปลูกอย่างไร และนำไปใช้ประโยชน์อะไรได้บ้าง มาเริ่มกันเลยครับ!
ไมโครกรีนคืออะไร

ไมโครกรีน (Microgreens) คืออะไร

ไมโครกรีน (Microgreens) คือผักและสมุนไพรที่ปลูกจากเมล็ดและเก็บเกี่ยวในระยะต้นกล้าสามารถรับประทานได้และมีรสชาติที่เข้มข้นซึ่งแตกต่างจากสมุนไพรและผักขนาดใหญ่ที่ใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนในการปลูก พืชไมโครกรีนสามารถเก็บเกี่ยวและรับประทานได้ภายใน 1 สัปดาห์หรือ 10 วัน หลังจากใบเลี้ยงที่อยู่ภายในเมล็ดเจริญเติบโตแล้ว หลังจากการเก็บเกี่ยวแต่ละครั้งผู้ปลูกจะต้องจัดเตรียม ดินใหม่ เมล็ดพืช และภาชนะฆ่าเชื้อใหม่ทุกครั้งไม่สามารถนำวัสดุบางชนิดมาใช้ซ้ำได้ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการปลูกพืชหรือสมุนไพรชนิดอื่นๆที่ปลูกครั้งเดียวแล้วเก็บเกี่ยวได้หลายครั้ง ไมโครกรีนสามารถปลูกได้ไม่ยาก ใช้พื้นที่น้อย และสามารถปลูกเองได้ที่บ้านได้เลย

ไมโครกรีนคืออะไร

ประโยชน์ของไมโครกรีน

แม้ว่าไมโครกรีนเป็นพืชขนาดเล็ก แต่กลับมีรสชาติที่เข้มข้นกว่าผักและสมุนไพรที่มีขนาดใหญ่ อีกทั้งไมโครกรีนบางชนิดมีสารอาหารมากกว่าพืชที่โตเต็มที่ 4-6 เท่า ยกตัวอย่างเช่น ไมโครกรีนกะหล่ำปลีแดง (Red Cabbage Microgreens) มีวิตามินอีมากกว่า 40 เท่าและมีวิตามินซีมากกว่า 6 เท่า ในขณะที่ไมโครกรีนผักชี (Cilantro Microgreens) มีเบต้าแคโรทีนมากกว่า 3 เท่า แม้ว่าไมโครกรีนจะมีสารอาหารหนาแน่น แต่โดยทั่วไปแล้วไมโครกรีนไม่ได้มาแทนที่ผักสลัดหรือผักอื่นๆเนื่องจากราคาและปริมาณในการรับประทาน อย่างไรก็ตามประโยชน์อื่นๆของพืชไมโครกรีนมีดังนี้

ลดความดันโลหิต

อาหารที่มีเส้นใย (Fiber) และวิตามินเคสูงช่วยรักษาระดับความดันโลหิต และไมโครกรีนก็มีองค์ประกอบที่สำคัญทั้งสองอย่างนี้อีกทั้งยังมีวิตามินและแร่ธาตุอื่นๆ สูงด้วยเช่นกัน

ลดคอเลสเตอรอล

ไมโครกรีนบางชนิดสามารถช่วยลดคอเลสเตอรอลได้ จากงานวิจัยพบว่าไมโครกรีนกะหล่ำปลีแดงช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลชนิด LDL คอเลสเตอรอลในตับ และไซโตไคน์อักเสบซึ่งเป็นความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจ

รักษาสุขภาพของลำไส้

ไมโครกรีนเป็นพืชที่เส้นใยอาหารสูง สามารถบรรเทาอาการท้องผูกหรืออาการอื่นๆที่เกี่ยวกับระบบการย่อยอาหารและการขับถ่ายเนื่องจากไฟเบอร์ทำหน้าที่เป็นพรีไบโอติกหรือวัสดุที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ดีต่อมนุษย์

ไมโครกรีนคืออะไร

พืชไมโครกรีนมีอะไรบ้าง

ไมโครกรีนมีมากกว่า 60 สายพันธุ์ มีทั้งสายพันธุ์ที่อร่อย บางสายพันธุ์ดีต่อสุขภาพ และบางสายพันธุ์ทั้งอร่อยและดีต่อสุขภาพ พี่หมีได้รวบรวมสายพันธุ์ยอดนิยมมาให้แล้วครับตามรายการด้านล่างนี้เลย

  • ผักโขม (Spinach)
  • ต้นหอมฝรั่ง (Chives)
  • กระเทียม (Garlic)
  • กระเทียมต้น (Leeks)
  • หัวหอม (Onions)
  • แครอท (Carrots)
  • เซเลอรี่ (Celery)
  • ผักชีลาว (Dill)
  • ผักชีล้อม (Fennel)
  • ผักกาดหอม (Lettuce)
  • บร็อคโคลี (Broccoli)
  • กะหล่ำปลี (Cabbage)
  • เคล (Kale)
  • โหระพา (Basil)
  • ทานตะวัน (Sunflowers)

วิธีการปลูกไมโครกรีนและการนำไปใช้

ไมโครกรีนสามารถปลูกได้ภายในบ้าน (Indoor) และปลูกภายนอก (Outdoor) หากปลูกใช้ภายในครัวเรือนพี่หมีแนะนำให้ปลูกภายในบ้านบริเวณที่แสงส่องถึงจะดูแลง่ายกว่าครับ ในกรณีที่ต้องการปลูกภายในบ้านแต่แสงส่องไม่ถึงหรือต้องการปลูกในจำนวนเยอะภายในห้องปลูกสามารถใช้ไฟปลูก Tyson 18W ได้เช่นกันครับ

ไมโครกรีนคืออะไร

อุปกรณ์สำหรับปลูก

  • กล่องเพาะเมล็ดหรือถาดปลูกต้นไม้ 2 ชั้น (สำหรับเก็บน้ำทิ้ง)
  • พีทมอสหรือดินปลูก
  • เมล็ดพืช
  • ขวดน้ำแบบสเปรย์
  • กระดาษอเนกประสงค์หรือฝาครอบ (กล่องเพาะเมล็ดมีฝาครอบให้แล้ว)
  • ไฟปลูก Tyson 18W (ใช้ในกรณีแสงเข้าไม่ถึงหรือต้องการปลูกจำนวนเยอะ)

วิธีการปลูกไมโครกรีน

เติมพีทมอสหรือดินปลูกลงไปในกล่องเพาะเมล็ดหรือถาดปลูกประมาณ 1 นิ้วครึ่งตบวัสดุปลูกเบาๆเพื่อให้ดินที่จับตัวเป็นก้อนแตกออกจากกัน หลังจากนั้นโรยเมล็ดให้เต็มหน้าดิน ไม่ต้องกลัวต้นจะเบียดกันเพราะใช้เวลาไม่นานในการเก็บเกี่ยว หลังจากนั้นให้ใช้ดินกลบเล็กน้อย เมล็ดขนาดใหญ่บางชนิดเช่น ดอกทานตะวันและถั่ว อาจต้องแช่ไว้ข้ามคืนแล้วล้างก่อนปลูก นอกจากนี้เมล็ดขนาดใหญ่บางสายพันธุ์ไม่จำเป็นต้องมีชั้นดินคลุมสามารถปักลงดินได้เลย ขั้นตอนต่อมาใช้ขวดน้ำแบบ
สเปรย์ ฉีดหน้าดินหรือเมล็ดให้มีความชุ่นชิ้น แล้วปิดถาดเพาะเมล็ดด้วยฝาครอบหรือใช้กระดาษอเนกประสงค์แทนก็ได้ ขั้นตอนสุดท้ายนำกล่องเพาะเมล็ดไปวางไว้ในที่แดดส่องถึง หากแดดส่องไม่ถึงให้ใช้ไฟปลูก Tyson 18W แทนโดยให้แสงประมาณ 15-17 ชั่วโมงต่อวัน (ปริมาณชั่วโมงแสงที่พืชได้รับในแต่ละวันขึ้นอยู่กับความเข้นข้นของแสง)

ขั้นตอนการเก็บเกี่ยว

ไมโครกรีนพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวเมื่อพืชสูงประมาณ 2 หรือ 3 นิ้วหรือประมาณ 10 วันหลังจากปลูก ใช้มีดหรือกรรไกรคมๆ ตัดต้นกล้าเหนือดินประมาณครึ่งนิ้ว ล้างไมโครกรีนในน้ำเย็นแล้วซับด้วยผ้าหรือกระดาษอเนกประสงค์ หลังจากนั้นนำผักไปใส่ในภาชนะสูญญากาศที่มีกระดาษอเนกประสงค์ใส่ไว้แล้ว ปิดฝาภาชนะให้แน่นแล้วนำไปแช่ตู้เย็น ควรนำมาบริโภคภายใน 1 สัปดาห์

ไมโครกรีนคืออะไร

ไมโครกรีนนำไปทำอะไรได้บ้าง

  • ผสมกับผักสลัดอื่นๆ
  • โรยหน้าปลาหรือเนื้อย่าง
  • ผสมลงในไข่คนหรือไข่เจียว
  • ปั่นให้เป็นสมูทตี้
  • ใช้เป็นท็อปปิ้งซุปหรือพาสต้า
  • ตกแต่งจานอาหาร
  • เพิ่มลงในแซนวิชเพื่อเพิ่มเนื้อสัมผัส

สรุป

ไมโครกรีนคืออะไร? ไมโครกรีนคือผักและสมุนไพรที่ปลูกจากเมล็ดและเก็บเกี่ยวในระยะต้นกล้าสามารถเก็บเกี่ยวภายใน 10 วันและมีรสชาติที่เข้มข้นกว่าผักที่เจริญเติบโตอย่างเต็มที่ นอกจากมีรสชาติที่เข้มข้นแล้วไมโครกรีนบางชนิดสามารถช่วยลดความดันโลหิต ลดคอเลสเตอรอล และรักษาสุขภาพของลำไส้ มีพืชหลากหลายชนิดที่สามารถนำมาปลูกแบบไมโครกรีนเช่น ผักโขนม (Spinach) ทานตะวัน (Sunflowers) เคล (Kale) และบร็อคโคลี (Broccoli) เป็นต้น เพื่อนๆสามารถปลูกไมโครกรีนได้ง่ายๆที่บ้านตัวเองด้วยอุปกรณ์เพาะเมล็ดหรือปลูกต้นกล้าเพียงไม่กี่อย่าง และใช้วิธีการปลูกแบบเดียวกับการเพาะเมล็ดทั่วไปได้เลย วิธีการเก็บเกี่ยวก็ง่ายๆหลังจากพืชสูงประมาณ 2 หรือ 3 นิ้วหรือประมาณ 10 วันก็เก็บเกี่ยวได้แล้วด้วยกรรไกรคมๆตัดเหนือกล้าประมาณครึ่งนิ้ว ไมโครกรีนสามารถนำใช้ประโยชน์ได้หลากหลายเช่น ผสมกับผักสลัดอื่นๆ ผสมลงในไข่คนหรือไข่เจียว หรือปั่นให้เป็นสมูทตี้ก็ได้เช่นกัน เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับบทความนี้หวังว่าเพื่อนๆจะได้รับความรู้เพิ่มขึ้น อย่าลืมกดไลก์ กดแชร์บทความ และคอมเมนท์เรื่องต้องการให้เขียนได้เลย แล้วพบกันใหม่ครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก

Integrisok, Bhg & Webmd

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ GrowStuff ไฟปลูกต้นไม้ ปุ๋ย และอุปกรณ์การเกษตร
หรือบทความอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่ รวมบทความ Growstuff

Jive420 Avatar

#ไมโครกรีนคืออะไร

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *