ช่วงนี้มีสถาบันหลายแห่ง อาทิ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และโรงพยาบาลอภัยภูเบศร ออกมาทำอาหารที่มีส่วนผสมของสมุนไพรกัญชาให้ประชาชนได้ลองลิ้มชิมรสกัน
มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย เป็นอีกหนึ่งสถาบันที่ได้ทำการเดินหน้าค้นคว้าวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ โดยมีการร่วมมือกับ บริษัท โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัด ที่ทำงานเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาเชิงทดลองด้านเทคโนโลยีชีวภาพประกอบกิจการค้นคว้า ภายใต้แฮชแท็ก #cannabisresearchcrru
ไฮไลท์ของงานนี้คือการเสิร์ฟ “เมนูกัญชา” ที่มีส่วนผสมของใบกัญชาฝีมือนักศึกษา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สามารถนำไปต่อยอดทางเศรษฐกิจในอนาคตได้ เช่น การเปิดร้านอาหาร หรือคาเฟ่กัญชา เหมือนในต่างประเทศ เป็นต้น
ความรู้เพิ่มเติม >> “THC และ CBD ในกัญชา คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร และมีประโยชน์อะไรบ้าง”
ในปีที่ผ่านมา บริษัท โกลเด้น ไทรแองเกิ้ล กรุ๊ป จำกัดได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายก่อสร้างอาคารโรงปลูกที่ใช้สำหรับดำเนินโครงการศึกษาวิจัยกัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และได้รับใบอนุญาตจากอย. ให้เป็นศูนย์วิจัยสายพันธุ์กัญชาที่เหมาะสมเพื่อการศึกษาวิเคราะห์คุณภาพของสารแคนนาบินอยด์ต่อไปในอนาคต
ไปดูเมนูกัญชาน่าอร่อยกัน!
เมนูกัญชาที่มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายรังสรรค์ขึ้นเป็นอาหารไทยประยุกต์ มีทั้งของว่างและของคาวรสชาติจัดจ้านถูกปากคนบ้านเรา การเสิร์ฟมาในสำรับไม้ไผ่สานพื้นบ้านยิ่งทำให้หน้าตาอาหารดูน่ากินมากขึ้นไปอีก
พี่หมีพูดได้เลยว่าทั้งตัวเมนูกัญชาและการนำเสนอช่วยเพิ่มกลิ่นอายพื้นบ้านที่สะท้อนถึงวัฒนธรรมการบริโภคสมุนไพรกัญชาของชาวบ้านที่มักจะใส่ลงไปในอาหาร เป็นที่นิยมทำกันในชนบทของไทยเรามาจนถึงทุกวันนี้
ในชุดของว่างประกอบไปด้วยเมี่ยงคำถั่วหมักล้านนาและกระทงทองไก่ไวท์ซอส
จุดเด่นอยู่ที่มีการนำใบอ่อนของกัญชามาวางประดับตกแต่งบนหน้าของกระทงทอง ซึ่งเราสามารถรับประทานเข้าไปด้วยได้
ส่วนสำรับใหญ่มีอาหารคาวที่หน้าตาน่ารับประทานไม่แพ้กัน ประกอบไปด้วยข้าวยำสมุนไพรใบกัญชากรอบ ปลานิลในซุปใบกัญชา ยำไก่เมืองเคี่ยวใบกัญชา และไข่ม้วนทรงเครื่องที่ทำมาในสไตล์ญี่ปุ่น มีน้ำมันแคนนาบินอยด์ราดด้านบนและตกแต่งด้วยยอดใบอ่อนของกัญชาด้านข้าง
ไม่ต้องบอกก็รู้ว่านี่คือเมนูกัญชาที่น่าลองที่สุด
ที่สำคัญงานนี้มีคุณ Jaime มาร่วมด้วยชิมอาหารด้วย เขาคือผู้ก่อตั้งสถาบัน Resin Seeds ที่ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงในการพัฒนาสายพันธุ์กัญชาของสเปน
สำหรับสายเขียวบ้านเราจะต้องรู้จักผลงานที่โดดเด่นของเขาเป็นอย่างดี นั่นคือ การคิดค้นกัญชาสายพันธุ์ Cannatonic ที่สามารถผลิตสาร CBD เป็นจำนวนมาก ทำให้ตัวเขาและบริษัทเป็นที่รู้จักในวงกว้าง
ที่น่าตื่นเต้นคือใบกัญชาที่ใช้ประกอบอาหารในมื้อนี้เป็นกัญชาสายพันธุ์ Cannatonic ชื่อดังของคุณ Jaime นั่นเอง เรียกได้ว่าเจ้าของสายพันธุ์มาร่วมชิมด้วยตัวเองเลยทีเดียวครับ
CBD ได้รับการยอมรับเป็น “ยารักษาโรค”
ภาพ: Medcannabis
ในเวทีโลกนั้น ยารักษาโรคลมชักขั้นรุนแรง “พิดิโอเล็กซ์” ยาตัวแรกของโลกที่มีสารสกัด CBD บริสุทธิ์จากกัญชา ซึ่งผลิตในสหราชอาณาจักร ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาให้มีสถานะเป็นยารักษาโรคอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
นอกจากลมชักขั้นรุนแรง สรรพคุณทางยาการรักษาและบรรเทาโรคขอทั้ง CBD และ THC มีตั้งแต่ไมเกรน อาการอักเสบ ช่วยผ่อนคลายความเครียด ที่สำคัญคือลดอาการข้างเคียงจากการรักษาด้วยเคมีบำบัดที่มักจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยมะเร็ง
ความรู้เพิ่มเติม >> “12 ประโยชน์ของน้ำมันกัญชา CBD”
สำหรับบ้านเรา กระทรวงสาธารณสุขเปิดโอกาสให้มีการปลูกกัญชงกึ่งเสรี และมีการเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงน้ำมันแคนนาบินอยด์ ทั้งสูตร THC/CBD (1:1) สูตร THC และสูตร CBD โดยมีข้อแม้ว่าต้องได้รับวินิจฉัยและมีใบสั่งยาจากแพทย์เท่านั้น
ทำเมนูกัญชากินได้ที่บ้าน
หลังจากอ่านรีวิวแล้ว ถ้าเพื่อน ๆ รู้สึกว่าอยากลงมือทำเมนูกัญชา (และกัญชง) ก็สามารถทำที่บ้านได้ แต่ต้องเป็นใบกัญชา/กัญชง ที่มาจากฟาร์มถูกกฏหมายเท่านั้น
อย่างไรก็ดี การทำอาหารที่มีส่วนประกอบของกัญชาเพื่อจัดจำหน่ายจำเป็นต้องขออย. ก่อน โดยทางอย. จะเป็นผู้ประกาศขั้นตอนและเงื่อนไขต่อไป
การที่หลายสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และการแพทย์ออกมาทำอาหารเมนูกัญชานั้น นอกจากจะทำให้แฟน ๆ สายเขียวตื่นตาตื่นใจแล้ว ยังเป็นการประกาศโดยนัยว่าเป็นกัญชาไม่ใช่พืชที่อันตราย แต่เป็นสมุนไพรประจำบ้านนั้นเอง
ข่าวกัญชา
- กัญชาถูกกฎหมาย? จาก “ยาเสพติดร้ายแรง” สู่ “ยารักษาโรค” – โลกจะเดินไปทางไหนเมื่อยูเอ็นเปลี่ยนสถานะสมุนไพรสายเขียว
- สธ. อนุญาตปลูกกัญชงตามกฎกระทรวงใหม่ คาดเริ่มใช้กุมภาพันธ์ 64
ขอบคุณข้อมูลจาก เชียงรายนิวส์
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของเราสามารถคอมเม้นต์ข้างล่างหรือทักไปที่ Facebook ของเราได้เลย