เพศกัญชาดูยังไงเป็นคำถามที่ค้างคาใจสำหรับนักปลูกหน้าใหม่ทุกคน และยังมีอีกหลายคนที่เชื่อว่าเพศของกัญชาสามารถรับรู้ได้ตั้งแต่เมล็ดโดยวิธีการดูลวดลายหรือดูก้นของเมล็ดซึ่งเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะเพศของต้นกัญชาจะแสดงอย่างแน่นอนก็ต่อเมื่อต้นกัญชาเจริญเติบโตไประยะหนึ่งแล้ว ในบทความนี้พี่หมีจะอธิบายความแตกต่างทางเพศของกัญชา วิธีการดู และการเกิดขึ้นของต้นกระเทย มาเริ่มกัญเลย!
กัญชาตัวผู้และตัวเมีย
กัญชาเป็นพืชดอกที่แยกเพศต่างต้น (Dioecious Plant) โดยจะมีเกสรตัวเมียและเกสรตัวผู้อยู่แยกต่างต้นกัน ไม่ได้มีเพียงกัญชาเท่านั้นที่เป็นพืชลักษณะนี้แต่ยังมี ผักโขมและอินทผาลัมอีกด้วย เราเรียกพืชดอกประเภทนี้ว่าดอกไม่สมบูรณ์เพศ (Imperfect Flowers) ต้นกัญชาตัวเมียจะผลิตดอกและใบประดับและกลีบเลี้ยง (Bract And Calyx) สำหรับสร้างเมล็ดและยังมีไตรโครมซึ่งที่กักเก็บสารสำคัญต่างๆไม่ว่าจะเป็น Cannabinoids, Terpenes, และ Flavonoids ส่วนกัญชาตัวผู้จะผลิตถุงเกสรดอกไม้ที่บริเวณโคนใบและไม่ผลิตดอกที่เรานำมาใช้มากัน ดอกที่เรานำมาใช้กันคือดอกที่เกิดจากต้นกัญชาตัวเมียโดยที่ไม่ได้ผสมพันธุ์กับต้นกัญชาตัวผู้เราเรียกดอกประเภทนี้ว่า ซินเซมิลลา (Sinsemilla) แปลว่าไร้เมล็ด
วิธีการตรวจสอบเพศของต้นกัญชา
เพศกัญชาดูยังไง อย่างที่กล่าวไปเราไม่สามารถตรวจสอบเพศของต้นกัญชาโดยวิธีการดูลวดลายหรือก้นของเมล็ด แต่เราสามารถดูเพศของกัญชาได้ที่โหนดหรือตากิ่งเมื่อต้นกัญชาเจริญเติบโตไประยะหนึ่งแล้ว หากเป็นต้นกัญชาตัวผู้จะมีถุงเก็บละอองเกสรงอกออกมาระหว่างโหนดทำหน้าที่กระจายเกสรตัวผู้ แต่ถ้าหากเป็นกัญชาตัวเมียจะมีเกสรตัวเมีย (Stigma) งอกออกมาแทนทำหน้าที่จับละอองเกสรตัวผู้เพื่อผสมพันธุ์ คุณสามารถเห็นการแสดงเพศของต้นกัญชาได้ก่อนที่ต้นกัญชาจะเริ่มผสมพันธุ์หรือสร้างดอกได้นานหลายสัปดาห์ เราเรียกช่วงนี้ว่าก่อนสร้างดอก (Pre-Flowers)
ช่วงก่อนที่ต้นกัญชาจะแสดงเพศใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์หรือนานกว่านี้ขึ้นอยู่กับวิธีการปลูก ความเร็วในการงอกและปัจจัยอื่นๆ หรือภายใน 2-3 สัปดาห์ในช่วงทำดอกคุณจะเห็นเพศของกัญชาได้ชัดขึ้นโดยสังเกตระหว่างโหนดว่าสิ่งที่งอกออกมาเป็นถุงละอองเกสรตัวผู้หรือเป็นเกสรตัวเมียกันแน่ หากปลูกกัญชาเพื่อนำดอกมาใช้งานควรแยกต้นตัวผู้ออกมาให้ไวที่สุด
ต้นกัญชาตัวเมีย
กัญชาตัวเมียถือเป็นเพศที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ต้นกัญชาเพราะเป็นเพศที่สร้างดอกกัญชาและทำให้ผู้คนทั่วโลกหลงไหลทั้งในด้านรูปทรงที่แปลกตา กลิ่นที่หอมหวานเย้ายวน มีประโยชน์ในทางการแพทย์ และยังทำให้คุณเมาได้อีกด้วย ต้นกัญชาตัวเมียทำหน้าที่รับละอองเกสรจากต้นกัญชาตัวผู้เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์โดยจะนำพันธุกรรมของพืชทั้งสองเพศนี้ไปสู่กัญชารุ่นต่อไป
การปลูกกัญชาตัวเมียในปัจจุบันเป็นการปลูกเพื่อใช้งานดอกเป็นส่วนใหญ่ไม่ใช่ปลูกเพื่อสร้างเมล็ด การปลูกกัญชาแบบไร้เมล็ดในลักษณะนี้จะต้องแยกต้นกัญชาตัวผู้และตัวเมียออกจากกันหรือต้องกำจัดตัวผู้ทิ้งไปเพื่อให้ต้นตัวเมียมุ่งความสนใจไปที่การผลิตดอกแทนการผลิตเมล็ด
สัญญาณเริ่มต้นของต้นกัญชาตัวเมีย
ไม่กี่สัปดาห์ในช่วงออกดอก อวัยวะสืบพันธุ์ตัวเมียจะปรากฏบนต้นกัญชาที่บริเวณโหนดระหว่างก้านหลักและกิ่งก้าน มีลักษณะเป็นรูปวงรีและมีขนสีขาวงอกออกมา ขนที่งอกออกมาก็คือเกสรตัวเมียซึ่งจะเปลี่ยนสีเป็นสีน้ำตาลในช่วงใกล้เก็บเกี่ยว สายเขียวหลายคนเรียกสิ่งนี้ว่า “หมอย” ย้ำอีกครั้งขนที่เราเห็นมันไม่ใช่หมอยของกัญชาที่หลายคนเรียกกันแต่เป็นเกสรตัวเมีย หากดูแล้วไม่แน่ใจว่าเป็นต้นกัญชาตัวผู้หรือตัวเมีย ปล่อยให้ต้นกัญชาเจริญเติบโตไปอีก 1 อาทิตย์แล้วตรวจดูอีกครั้ง
Feminized Seeds คืออะไร
Feminized Seeds คือเมล็ดกัญชาที่ถูกทำให้เป็นเพศเมีย (99.9%) โดยไม่ต้องสุ่มเพศที่เกิดจากการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติ สามารถทำได้โดยใช้สารซิลเวอร์คอลลอยด์ (Colloidal Silver) หรือสารซิลเวอร์ไทโอซัลเฟต (Silver Thiosulfate) เพื่อให้ต้นตัวเมียสร้างถุงเกสรที่มีโครโมโซมเพศเมียขึ้นมาแล้วนำไปผสมพันธุ์กับต้นตัวเมียต้นอื่น เท่านี้เราก็ได้จะเมล็ด Feminized Seeds แล้ว เมล็ดชนิดนี้สามารถหาซื้อได้ตามร้านขายเมล็ด (Seed Bank) ที่น่าเชื่อถือ
ต้นกัญชาตัวผู้
ต้นกัญชาตัวผู้จะสร้างถุงละอองเกสรแทนการสร้างดอก โดยปกติแล้วต้นกัญชาตัวผู้จะถูกทิ้งเพราะนักปลูกส่วนใหญ่ต้องการปลูกกัญชาเพื่อสร้างดอกที่สามารถสูบได้ ดังนั้นคงไม่มีใครอยากให้มันผสมพันธุ์กับต้นกัญชาตัวเมียและสูบดอกที่มีเมล็ดอยู่ด้านใน กัญชาตัวผู้มีความสำคัญในกระบวนการผสมพันธุ์หรือการสร้างสายพันธุ์ใหม่ (Breeding Process) โดยสืบทอดพันธุกรรมครึ่งหนึ่งไปสู่เมล็ด
ด้วยเหตุนี้การพิจารณาพันธุกรรมของตันกัญชาตัวผู้จึงเป็นสิ่งสำคัญไม่ว่าจะเป็น ขนาดและรูปร่าง อัตราการเจริญเติบโต ความต้านทานต่อศัตรูพืช และความสามารถในการต้านทานต่อสภาพอากาศ ทั้งหมดนี้สามารถส่งต่อเพื่อเพิ่มคุณภาพให้กับกัญชารุ่นต่อไปหรือสายพันธุ์ใหม่ๆได้
สัญญาณเริ่มต้นของต้นกัญชาตัวผู้
คุณสามารถตรวจเช็คเพศกัญชาว่าเป็นตัวผู้หรือไม่ โดยการสังเกตุที่โหนดหรือข้อระหว่างกิ่งหลักและกิ่งก้าน อวัยวะสืบพันธุ์ตัวผู้จะมีลักษณะกลมคล้ายลูกบอลและจะพัฒนาเป็นถุงเกสร หากไม่แน่ใจว่าต้นกัญชาต้นนั้นเป็นตัวผู้หรือตัวเมียปล่อยให้ต้นกัญชาเจริญเติบโตไปอีก 1 อาทิตย์แล้วตรวจดูอีกครั้ง ในช่วงแรกไม่มีความเสี่ยงมากนักที่ต้นตัวผู้จะผสมเกสรกับต้นตัวเมีย
กัญชาตัวผู้ เอาไปทำอะไรได้บ้าง
- เป็นพ่อพันธุ์เพื่อสร้างสายพันธุ์ใหม่ๆ
- นำใบไประกอบอาหารหรือทำเป็นเครื่องดื่ม
- เส้นใยต้นตัวผู้จะนุ่มกว่าและอ่อนกว่าต้นตัวเมียสามารถนำไปสร้างผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เสื้อผ้า ผ้าปูโต๊ะ และของใช้ในครัวเรือนอื่นๆ
- ปลูกในสวนพืชผักเพื่อใช้เป็นตัวไล่แมลงตามธรรมชาติ
- สามารถสกัดสาร THC หรือ CBD เพื่อทำแฮชและน้ำมันอื่นๆ ได้ (มีสารน้อยกว่าต้นตัวเมีย)
ต้นกัญชากระเทยคืออะไร เป็นอย่างไร และเกิดขึ้นได้อย่างไร
กัญชากระเทยคือกัญชาที่มีสองเพศในต้นเดียวกันกล่าวคือในกัญชา 1 ต้นมีทั้งถุงเกสรตัวผู้และเกสรตัวเมียซึ่งหาได้ยากมาก อีกทั้งยังสามารถผสมเกสรด้วยตัวเองได้ โดยทั่วไปแล้วจะไม่ส่งผลดีต่อนักปลูกและนักสูบเพราะมันจะสร้างดอกที่มีเมล็ดและส่งต่อยีน 2 เพศไปสู่เมล็ดอีกด้วย กัญชากระเทยเกิดได้จากหลายปัจจัยไม่ว่าจะเป็นการสืบทอดยีนมาจากต้นแม่พันธุ์หรือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเกิดจากความเครียดที่ต้นกัญชาได้รับมากเกินไป
ปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียด
- ความเสียหายที่เกิดกับต้น
- อากาศไม่ดี
- โรคต่างๆ
- การขาดสารอาหาร
ต้นกระเทยมี 2 ประเภท
- ต้นกัญชาที่มีทั้งดอกและถุงเกสรอยู่ในต้นเดียวกันแต่แยกออกจากกัน (ต้นกระเทยแท้)
- ต้นกัญชาที่มีอับละอองเกสรตัวผู้หรือ Bananas เกิดขึ้นบนดอก (ต้นกระเทยเทียม)
ต้นกระเทยทั้ง 2 ประเภทจะผลิตและสร้างละอองเรณูเพื่อสืบพันธุ์ แต่ต้นกระเทยแท้จะมีถุงเกสรที่จะต้องเปิดออกก่อนแล้วจึงกระจายละอองเรณู หากต้นกัญชาที่คุณปลูกอยู่เป็นต้นกระเทยแท้สามารถแก้ไขด้วยการเด็ดออกในกรณีที่คุณปลูกต้นเดียว ในกรณีที่คุณปลูกหลายต้นควรแยกออกจากห้องปลูกโดยทันที แต่ถ้าคุณเจอต้นกระเทยเทียมหรือต้นที่มีอับละอองเกสรเกิดขึ้นบนดอกควรเก็บเกี่ยวทันทีก่อนที่กัญชาต้นนั้นจะหันไปผลิตเมล็ด
ต้นกระเทยแท้และเทียมมักเกิดขึ้นจากความเครียดของต้น การตรวจสอบต้นกัญชาหลังจากได้รับความเครียดจากปัจจัยต่างๆเป็นเรื่องสำคัญไม่ว่าจะเป็น อุณหภูมิสูงเกินไป หรือชั่วโมงแสงที่พืชได้รับผิดเพี้ยนไปจากเดิม หรือความเสียหายที่เกิดกับต้นกัญชาไม่ว่าเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือเกิดขึ้นจากการเทรนนิ่ง
สาเหตุหลักอีกประการหนึ่งของต้นกระเทยเกิดจากพันธุกรรม ควรหลีกเลี่ยงต้นกัญชาที่มีพันธุกรรมไม่ดีและควรสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์ที่มาจากแหล่งที่น่าเชื่อถือในกรณีที่ปลูกกัญชาหลายต้น หากพบต้นใดต้นหนึ่งเป็นต้นกระเทยควรย้ายออกจากห้องปลูกโดยทันที
สรุป
กัญชาเป็นพืชดอกที่แยกเพศต่างต้น (Dioecious Plant) โดยจะมีเกสรตัวเมียและเกสรตัวผู้อยู่แยกต่างต้นกันส่งผลให้กัญชา มี 2 เพศ แต่ในกรณีที่ต้นกัญชาเครียดเกินไปหรือเกิดจากพันธุกรรม ต้นกัญชาสามารถมี 2 เพศในต้นเดียวได้ โดยแบ่งเป็นต้นกระเทยแท้และต้นกระเทยเทียมดังที่กล่าวไป เพื่อนๆสามารถดูเพศกัญชาได้ในช่วง Pre-Flower หรือภาย 2-3 สัปดาห์ในช่วงทำดอก หากเป็นต้นตัวผู้จะมีถุงเกสรคล้ายๆลูกบอลเกินขึ้นระหว่างโหนด หากเป็นต้นตัวเมียจะมีเกสรตัวเมียเกิดขึ้นแทน นักปลูกที่ต้องการปลูกกัญชาเพื่อเอาดอกควรปลูกจากเมล็ด Feminized Seed ที่เป็นต้นตัวเมียมาแล้ว ไม่ควรปลูกโดยเมล็ดสุ่มเพศเพราะมีโอกาสที่เกิดการผสมพันธุ์ เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับบทความนี้หวังว่าเพื่อนๆจะได้รับความรู้เพิ่มขึ้น อย่าลืมกดไลก์ กดแชร์บทความ และคอมเมนท์เรื่องต้องการให้เขียนได้เลย แล้วพบกันใหม่ครับ
ขอบคุณข้อมูลจาก
Leafly & Growweedeasy
อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ GrowStuff ไฟปลูกต้นไม้ ปุ๋ย และอุปกรณ์การเกษตร
หรือบทความอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่ รวมบทความ Growstuff