การเกษตร

พีทมอส (Peat Moss) คืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และใช้ทำอะไรได้บ้าง

พีทมอส
ทุกคนที่เคยทำสวนหรือปลูกต้นไม้มาแล้วคงจะรู้จักวัสดุปลูกอย่างพีทมอส (Peat Moss) ที่หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายอุปกรณ์การเกษตรทั่วประเทศซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะรู้จัก Peat Moss ในฐานะวัสดุเพาะเมล็ดและต้นกล้าหรือนำไปผสมกับวัสดุปลูกอื่นๆ แต่ยังมีคนอีกจำนวนมากที่ไม่รู้จักหรือแม้กระทั่งผู้ที่ใช้งานบ่อยๆก็ไม่รู้รายละเอียดของ Peat moss เท่าไหร่นัก ในบทความนี้พี่หมีจะอธิบาย Peat Moss ว่าคืออะไร มีประโยชน์ และใช้ทำอะไรได้บ้าง เพื่อให้ทุกคนได้รู้จักกับ Peat Moss ได้มากขึ้น มาเริ่มกันเลย!!!
พีทมอส

พีทมอส (Peat Moss) คืออะไร

พีทมอส (Peat Moss) คือการทับถมของเส้นใยที่ตายแล้ว มีลักษณะเป็นเส้นใยสีน้ำตาลเข้มเกิดจากตะไคร่น้ำหรือสแฟ็กนั่มมอส (Sphagnum Moss) และอินทรีย์วัตถุอื่นๆที่ย่อยสลายในบึงพีทเป็นเวลาหลายพันปีเนื่องจากพีทมอสไม่ได้ใช้ออกซิเจนหรืออากาศในการสลายตัวรวมกัน ดังนั้นกระบวนการเกิดพีทมอสจึงเกิดขึ้นอย่างช้าๆ ในแต่ละปีบีงพีทจะสร้างพีทมอส ใหม่ที่ความลึกไม่เกิน 1 มิลลิเมตรเท่านั้น นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Peat Moss แท้มีราคาแพง

พีทมอส

พีท (Peat) พีทมอส (Peat Moss) และสแฟ็กนั่มมอส (Sphagnum Moss) แตกต่างกันอย่างไร

พีท (Peat): คือคำกว้างๆที่อธิบายถึงอินทรีย์วัตถุต่างๆในธรรมชาติย่อยสลายรวมตัวกันเป็นพีทไม่ได้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นอินทรีย์วัตถุใดๆ
พีทมอส (Peat Moss): คือพีทที่เกิดจากการทับถมของตะไคร่น้ำหรือสแฟ็กนั่มมอส (Sphagnum Moss) คำว่า Moss ใน Peat Moss หมายถึง Sphagnum Moss นั่นเอง
สแฟ็กนั่มมอส (Sphagnum Moss): คือตะไคร่น้ำที่เราพบเห็นกันทั่วไป เกิดขึ้นตามพื้นผิวดินที่มีความชุ่มชื้นและเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่ที่มีอากาศหนาวเย็น เมื่อเวลาผ่านไปชิ้นส่วนเก่าของสแฟ็กนั่มมอสจะจมลงสู่ชั้นล่างและเกิดกระบวนการสลายตัวไปอย่างช้าๆจนเกิดเป็นพีทมอส

พีทมอส

ความเป็นมา

พีทถูกทำให้แห้งและนำมาใช้เป็นแหล่งเชื้อเพลิงในบางประเทศมานานหลายศตวรรษเพราะอุดมไปด้วยคาร์บอนเช่นเดียวกับเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆจนถึงทศวรรษที่ 1940 หรือพุทธศักราช 2483 พีทค่อยๆมีบทบาทในอุตสาหกรรมการเกษตร ทุกวันนี้ Peat moss เป็นที่นิยมในการเพาะเมล็ด เพาะต้นกล้า ปรับปรุงดิน เพาะเห็ด ปลูกต้นไม้ รวมถึงปลูกกัญชา

พีทมอส

แหล่งที่มาของ Peat Moss

Peat Moss มักพบในที่ลุ่มและพื้นที่ชุ่มน้ำทางซีกโลกเหนือโดยเฉพาะรัสเซียที่มีปริมาณ Peat Moss มากที่สุดในโลกตามมาด้วยประเทศแคนาดาที่มีปริมาณรองลงมาคิดเป็น 25% ของ Peat moss ทั่วโลก และตามด้วยอีกหลายประเทศ เช่น ฟินแลนด์ สวีเดน เยอรมัน ลิธัวเนีย เป็นต้น Peat Moss แท้ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็น Peat Moss ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศทั้งหมดเพราะพื้นที่ในประเทศไทยไม่มีบึงพีทและไม่ได้มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมที่ก่อให้เกิดบึง
พีทเหมือนประเทศในกลุ่มซีกโลกเหนือและนี่เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ Peat moss แท้มีราคาแพง

พีทมอส

ประโยชน์ของ Peat Moss

สะอาด

วัสดุปลูกอื่นๆเช่นดินปลูก ดินผสมหรืออินทรีย์วัตถุอื่นๆที่นำมาปลูกพืชส่วนใหญ่มักจะไม่สะอาด แต่ Peat Moss จะมีความสะอาดบริสุทธิ์เนื่องจากเกิดจากการทับถมและสลายตัวของสแฟ็กนั่มมอสหลายพันปี

ปราศจากเชื้อโรค

หนึ่งในคุณสมบัติที่ดีที่สุดของ Peat Moss คือการปลอดเชื้อไม่มีแบคทีเรีย เชื้อรา สารเคมีที่เป็นอันตราย และไม่มีวัชพืชซึ่งเหมาะแก่การเพาะเมล็ดและต้นกล้าที่อยู่ในสภาพบอบบาง

กักเก็บความชุ่มชื้นได้ดี

Peat Moss สามารถดูดซับและกักเก็บน้ำได้เป็นอย่างดีซึ่งเหมาะสำหรับการเพาะเมล็ดและต้นกล้าที่ต้องการความชื้นสูงรวมถึงเหมาะสำหรับการนำไปผสมวัสดุปลูกอื่นๆเพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่วัสดุปลูก

หาซื้อได้ไม่ยาก

Peat Moss มีขายทั่วไปตามร้านขายอุปกรณ์การเกษตรทั่วประเทศไทย แต่ Peat Moss ที่มีราคาถูกกว่าปกติให้สันนิษฐานไว้ว่าอาจจะเป็นของปลอมหรือเป็นเพียงแค่สแฟ็กนั่มมอส (Sphagnum Moss) ที่ไม่ได้เกิดการย่อยสลายกลายเป็น Peat Moss ก็เป็นได้ Peat Moss แท้จะต้องเป็น Peat Moss นำเข้าเพราะประเทศไทยไม่มีบึงพีท ซื้อจากแหล่งที่ชัวจะดีกว่า พี่หมีมี Peat Moss Klasmann TS2 นำเข้าจากประเทศเยอรมันเป็น Peat Moss ขาวที่เหมาะแก่การเพาะเมล็ด เพาะต้นกล้า ปลูกพืช และปลูกกัญชา TS2 เป็นสูตรที่พี่หมีใช้ทดสอบในฟาร์มปลูกโดยผสมเพอร์ไลท์ (Perlite) ประมาณ 20% แล้วพบว่าได้ผลลัพธ์ที่ดีสำหรับการเพาะต้นกล้า ต้นโคลน เพาะเมล็ดติดง่ายใช้ร่วมกันได้ดีกับปุ๋ยคิงเวล KING WHALE ไม่เกิดอาการปุ๋ยล็อคหรือปุ๋ยเกิน

มีค่าเป็นกรด

Peat Moss ส่วนใหญ่มีค่า pH ต่ำตั้งแต่ 3.5 ถึง 6 โดยเฉลี่ยขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาของพีทมอสที่ขุดได้เหมาะแก่การเพาะปลูก สตรอเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ และกัญชา อย่างไรก็ตาม Peat Moss ที่นำมาจำหน่ายในประเทศไทยได้มีการปรับปรุงค่า pH ให้อยู่ที่ 6.0-6.5 เรียบร้อยแล้ว

เนื้อไม่แน่นจนเกินไป

แม้ว่า Peat Moss จะสามารถดูดซับน้ำได้ดี แต่จะไม่แน่นเหมือนกับดินเมื่อได้รับน้ำ ดังนั้นการใช้ Peat Moss เป็นวัสดุปลูกจะช่วยให้รากเดินได้ง่าย มีช่องว่างให้อากาศและน้ำผ่านได้สะดวกหรือจะนำ Peat Moss ไปผสมกับดินก็จะช่วยลดปัญหาดินแน่นเกินไปเมื่อได้รับน้ำ

พีทมอส

ข้อเสียของ Peat Moss

สารอาหารต่ำ

Peat Moss มีสารอาหารต่ำมากซึ่งแตกต่างจากอินทรีย์วัตถุอื่นๆ เช่น ปุ๋ยหมักมูลสัตว์หรือปุ๋ยหมักอื่นๆ นอกจากนี้ยังไม่มีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์อีกด้วย อย่างไรก็ตามในข้อเสียยังมีข้อดีวัสดุปลูกที่มีสารอาหารต่ำสำหรับการเพาะเมล็ด เพาะต้นกล้าที่ไม่ต้องการสารอาหารสูง รวมถึงการปลูกกัญชาในเชิงอุตสาหกรรมที่ต้องการควบคุมปริมาณสารอาหารกล่าวคือหากใช้ Peat Moss เป็นวัสดุปลูกที่มีสารอาหารต่ำจะช่วยให้พืชได้รับปริมาณสารอาหารจากปุ๋ยไม่ผิดเพี้ยน หากใช้ดินปลูกหรือปุ๋ยหมักเป็นวัสดุปลูกที่มีสารอาหารดั้งเดิมอยู่แล้วและให้ปุ๋ยเพิ่มไปอีกอาจก่อให้เกิดอาการปุ๋ยล็อคหรือปุ๋ยเกินทำให้พืชไม่ดูดสารอาหารนั่นเอง

ปัญหาความแห้ง

Peat Moss สามารถอุ้มน้ำได้ดีถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำหนักแต่เมื่อ Peat Moss แห้งสนิทจะใช้เวลานานกว่าจะกลับมาชุ่มชื้น ดังนั้นควรทำให้ Peat Moss ชุ่มชื้นก่อนเริ่มเพาะเมล็ดหรือเพาะเมล็ดต้นกล้า

ค่า pH ที่ต่ำไม่เหมาะกับพืชบางชนิด

พืชโดยส่วนใหญ่มักจะชอบค่า pH ที่เป็นกรดเล็กน้อยหรือมีค่า pH เป็นกลางที่ประมาณ 6.0-7.0 แต่ Peat Moss โดยธรรมชาติจะมีค่าเป็นกรดตั้งแต่ 3.5 ถึง 6 โดยเฉลี่ยซึ่งไม่เหมาะกับพืชที่ต้องการค่า pH กลางหรือด่างเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม Peat Moss ที่นำมาขายในตลาดส่วนใหญ่มีการปรับปรุงค่า pH ให้อยู่ที่ช่วง 6.0-6.5 เพื่อให้เหมาะสมแก่การเพาะปลูกพืชหลากหลายชนิด

มีราคาแพง

Peat Moss แท้มีราคาแพงเกิดจากการนำเข้าและกระบวนการผลิตที่ยุ่งยากและใช้เวลานานแต่ไม่ได้หมายความว่าแพงจนเกินไป หากนำมาผสมดิน เพอร์ไลท์ และขุยมะพร้าวจะสามารถใช้ได้เยอะขึ้น หรือนำมาปลูกกับพืชที่มีมูลค่าสูงอย่างเช่น กัญชาโดยใช้ร่วมกับปุ๋ยจะได้ผลผลิตที่ดีกว่าและเกิดปัญหาน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการใช้ดินปลูก

พีทมอส

วิธีการใช้งาน Peat Moss

หลังจากเราได้ทราบข้อและข้อเสียของ Peat Moss ไปแล้วในส่วนนี้เราจะมาดูกันว่า Peat Moss สามารถนำไปใช้งานในด้านการเกษตรได้อย่างไรบ้าง

ผสมดินปลูก

Peat Moss ถูกนำมาใช้ในการผสมดินเพื่อปรับปรุงคุณภาพดินมาเป็นระยะเวลายาวนานเพราะมีประโยชน์อย่างเห็นได้ชัด หากนำมาผสมดินเหนียวหรือดินที่จับตัวเป็นก้อนจะทำให้โครงสร้างของดินอ่อนตัวและช่วยให้ระบายน้ำได้ดีขึ้น ส่วนใหญ่มักจะนำดินมาผสมกับ Peat Moss ในอัตราส่วน 2:1 กล่าวคือ ดิน 2 ส่วน Peat Moss 1 ส่วน ควรเช็คค่า pH หลังจากการผสมเสมอ

เพาะเมล็ด เพาะต้นกล้า

ผู้คนส่วนใหญ่มักนิยมนำ Peat Moss มาเพาะเมล็ดและเพาะต้นกล้าเนื่องจาก Peat Moss เนื่องจากมีความสะอาด ปราศจากเชื้อโรค ป้องกันแบคทีเรีย ระบายน้ำและอากาศได้ดี เนื้อละเอียด สารอาหารต่ำ และกักเก็บความชื้นได้ดีซึ่งเป็นคุณสมบัติที่เหมาะแก่การเพาะเมล็ดและเพาะต้ากล้ามากกว่าวัสดุปลูกอื่นๆ

ปลูกกัญชา

สำหรับการปลูกกัญชา นักปลูกส่วนใหญ่มักจะนำ Peat Moss มาผสมดินปลูกที่หาซื้อได้ทั่วไปหรือใช้ Peat Moss เป็นวัสดุหลักในการปลูกโดยการผสมในอัตตราส่วนดังนี้ Peat Moss 70% Perlite 20% และ COCO 10% สาเหตุที่ทำให้ Peat Moss เป็นที่นิยมในการปลูกกัญชาเนื่องจากระบายน้ำและระบายอากาศได้ดี สะอาด ไม่มีเชื้อโรค และมีสารอาหารต่ำซึ่งช่วยให้นักปลูกสามารถควบคุมการให้สารอาหารด้วยปุ๋ยได้ง่าย

ปลูกพืชที่ต้องการค่า pH เป็นกรด

Peat Moss จากธรรมชาติที่ไม่ได้ปรับปรุงค่า pH มีค่า pH ต่ำ มีสภาพเป็นกรดเหมาะแก่ปลูกพืชที่ต้องการค่า pH ต่ำเช่น บลูเบอร์รี่ เพียริส เฮเธอร์ ชวนชม คามีเลีย มะเขือเทศ และอื่นๆ

สรุป

Peat Moss คือการทับถมของเส้นใยที่ตายแล้วมีลักษณะเป็นเส้นใยสีน้ำตาลเข้มเกิดจากตะไคร่น้ำหรือสแฟ็กนั่มมอส (Sphagnum Moss) และอินทรีย์วัตถุอื่นๆที่ย่อยสลายในบึงพีทเป็นเวลาหลายพันปี มักพบในที่ลุ่มและพื้นที่ชุ่มน้ำทางซีกโลกเหนือโดยเฉพาะรัสเซีย แคนาดา ฟินแลนด์ สวีเดน เยอรมัน และลิธัวเนีย เดิมทีถูกนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง แต่หลังจาก ค.ศ. 1940 ถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมการเกษตรอย่างแพร่หลายเนื่องจากมีคุณสมบัติที่เหมาะแก่การปลูกพืช เช่น สะอาด ปราศจากเชื้อโรค กักเก็บความชุ่มชิ้นได้ดี มีค่าเป็นกรด เนื้อไม่แน่นจนเกินไป ระบายอากาศและน้ำได้ดี นำมาใช้งานในด้านการเกษตรได้หลากหลายเช่น ผสมดินปลูก เพาะเมล็ด เพาะต้นกล้า ปลูกกัญชา และปลูกพืชที่ต้องการค่า pH เป็นกรด
เป็นอย่างไรกันบ้างครับกับบทความ Peat Moss หวังว่าเพื่อนๆจะได้รับความรู้เพิ่มขึ้น อย่าลืมกดไลก์ กดแชร์บทความ และคอมเมนท์เรื่องต้องการให้เขียนได้เลย แล้วพบกันใหม่ครับ

ขอบคุณข้อมูลจาก

Trees & Gardeningknowhow

อ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ GrowStuff ไฟปลูกต้นไม้ ปุ๋ย และอุปกรณ์การเกษตร
หรือบทความอื่นๆที่น่าสนใจได้ที่ รวมบทความ Growstuff

Jive420 Avatar



ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *