คุณภาพน้ำเพื่อการเกษตร
ในบทความนี้พี่หมีกลับมาพร้อมกับอีกหนึ่งปัจจัยง่าย ๆ ที่นักปลูกหลายคนมองข้ามไป นั้นก็คือ “น้ำ”
ไม่ว่าจะเป็นระบบการปลูกแบบใด คุณภาพน้ำที่ใช้ก็ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อการเติบโตของพืช น้ำที่มีการปนเปื้อนอาจจะไปจำกัดการหมุนเวียนของระบบ ส่งผลกระทบต่อธาตุอาหารและการควบคุมแบคทีเรียโดยรวม
สิ่งที่นักปลูกต้องตระหนักคือ “น้ำไม่เหมือนกันทั้งหมด” และไม่ใช่น้ำทุกประเภทที่มีประโยชน์และส่งเสริมสุขภาพของพืช รู้ไหมครับว่าการสุ่มตรวจน้ำที่ใช้ในระบบการเกษตรเพื่อการจำหน่ายพบระดับการปนเปื้อนทางกายภาพ เคมี และจุลินทรีย์ที่มากจนน่าตกใจ
แหล่งน้ำประเภทต่าง ๆ และคุณภาพน้ำโดยรวม
ภาพ: César Couto/Unsplash
น้ำฝน: นับว่าเป็นตัวเลือกที่ค่อนข้างเหมาะจะใช้ในการปลูกพืช วัฏจักรของน้ำตามธรรมชาติมักจะก่อให้เกิดน้ำที่ค่อนข้างมีความบริสุทธิ์แม้ว่าจะมีเศษแร่ธาตุที่เกิดจากแก๊สในชั้นบรรยากาศอยู่บ้าง ข้อควรระวังคือน้ำฝนอาจจะปนเปื้อนปรอทและแอสเบสตอสจากวัสดุที่ใช้รอง มีค่า pH อยู่ที่ 5-7 โดยประมาณขึ้นอยู่กับฝนในแต่ละพิ้นที่
น้ำบาดาล (น้ำพุ บ่อขุด): เหมาะอย่างมากที่จะใช้ทำการเกษตรแม้ว่าจะมีแร่ธาตุละลายปะปนอยู่บ้าง อาทิ แคลเซียมคาร์บอเนต โดยเฉพาะน้ำที่พบใกล้แร่หินปูน ทำให้มีค่า pH ที่ค่อนข้างสูง หรือมีความเป็นด่าง จึงแนะนำให้มีการส่งตัวอย่างน้ำไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์เพื่อให้แน่ใจว่าเกลือ (โซเดียมคลอไรด์) อยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้สูงที่น้ำบาดาลถูกปนเปื้อนจากกิจกรรมบนพื้นโลก เช่น การกำจัดขยะ การเกษตร และอุตสาหกรรม นักปลูกจึงต้องสังเกตปัจจัยรอบข้างเหล่านี้ให้ดี
ภาพ: Khalil/Unsplash
น้ำประปา: น้ำประปาค่อนข้างมีความหลากหลายขึ้นอยู่กับแหล่งที่มาและวิธีการบำบัด โดยปกติแล้วน้ำประปาจะได้รับการบำบัดผ่านการกรอง ผ่านกระบวนการแยกเกลือ และเติมคลอรีนหรือคลอราไมน์เพื่อปรับสมดุลของเชื้อโรค ปัจจัยที่กล่าวมาเหล่านี้อาจส่งผลให้ต้นไม้เติบโตช้าและเกิดการทำลายจุลินทรีย์ที่ดีในบริเวณที่ปลูกอีกด้วย
น้ำหมุนเวียนหรือรีไซเคิล (สำหรับการปลูกแบบไฮโดรโปรนิกส์)
ยิ่งน้ำที่ใช้มีความบริสุทธิ์มากเท่าไหร่ ความจำเป็นในการปรับปรุงน้ำเพื่อใช้ในการเกษตรยิ่งน้อยลงเท่านั้น เพราะว่ามีสิ่งเจือปนน้อย ทำให้โอกาสที่ต้นไม้จะไม่ดูดซึมธาตุอาหารน้อยลงตามไปด้วย
ในกรณีที่ปลูกในดิน ระบบนิเวศของจุลินทรีย์นับว่ามีความสำคัญมาก น้ำที่มีการปนเปื้อนสามารถทำลายระบบนิเวศนี้ได้เช่นกัน เริ่มจากการทำลายสารอาหารในดินที่เป็นอาหารของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่มีประโยชน์กับพืชตลอดจนตัวพืชเอง
น้ำ RO หรือ Reverse Osmosis เป็นวิธีหนึ่งของการกรองน้ำแบบหนึ่ง ที่มีความละเอียด สามารถหาซื้อได้ทั่วไปในท้องตลาด (พี่หมีแนะนำราคา 3,000 บาทขึ้นไป) เหมาะกับการเกษตร indoor ที่สุด เพราะมีความสะอาดระดับน้ำดื่มโดยมีค่า pH อยู่ที่ 6 – 7 และสามารถใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือนได้
อย่างไรก็ตาม น้ำที่ผ่านระบบ RO ไม่เหมาะกับการบริโภคระยะยาวเพราะกระบวนการกรองที่ละเอียด ทำให้แม้แต่แร่ธาตุที่มีประโยชน์ต่อร่างกายมนุษย์ก็ไม่สามารถผ่านได้ เช่น แมกนีเซียม แคลเซียม ซิลิก้า ฟลูออไรด์ และสังกะสี ซึ่งจำเป็นต่อการซ่อมแซมกระดูกและฟัน รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ให้ร่างกายของเรา
ไม่ว่าจะใช้แหล่งน้ำชนิดใดในการปลูก การตรวจคือหนทางเดียวที่เราจะสามารถรับรู้ถึงระดับของการปนเปื้อนได้ ซึ่งจะนำไปสู่หนทางในการปรับปรุงดูแลต่อไปเพื่อต้นไม้ของเราจะเติบโตอย่างแข็งแรง โดยเราสามารถเริ่มต้นได้จากการวัดค่านำไฟฟ้า (EC) และกรด-ด่าง (pH) ของแหล่งน้ำ
ถ้าค่า pH ที่วัดได้ใกล้เคียงกับค่า 7.0 และค่า EC เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับศูนย์ (0) แหล่งน้ำก็จะมีความบริสุทธิ์มากซึ่งเป็นเรื่องที่ดีเพราะหมายความว่าน้ำจะสามารถลำเลียงธาตุอาหารและอาหารเสริมอื่น ๆ ไปดูแลต้นไม้ได้ดีนั้นเอง
น้ำบริสุทธิ์คืออะไร
น้ำบริสุทธิ์ (H2O) ประกอบไปด้วยไฮโดรเจนไอออน (H+) และไฮดรอกซิลไอออน (OH-) ในส่วนที่เท่ากัน ความสมดุลระหว่างไอออน 2 ชนิดนี้ก่อให้เกิดค่า pH กลางที่เท่ากับ 7.0 น้ำบริสุทธิ์จะไม่มีการปะปนของแร่ธาตุ จุลินทรีย์ และแบคทีเรีย หรือสารเจือใดใดเลย
การสังเกตคุณภาพน้ำที่เราใช้ปลูกพืชสามารถใช้บ่งชี้ความบริสุทธิ์ของน้ำได้ กล่าวคือถ้าค่า pH ที่วัดได้ใกล้เคียงกับค่า 7.0 และค่า EC เทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับศูนย์ (0) ก็จะมีความบริสุทธิ์มากนั่นเอง
น้ำบริสุทธิ์ถูกใช้เป็นมาตรฐานในระบบปลูกต่าง ๆ เพราะหมายถึงน้ำนั้นไม่มีสิ่งเจือปนใดใดที่จะส่งผลกระทบกับคุณภาพของสารและธาตุอาหารที่เติมลงไปได้ และยังมีข้อดีอื่น ๆ ดังนี้
- ไม่มี “ไอออนของเสีย – waste ions” เข้ามาทำลายค่าที่เหมาะสมหลังจากผสมธาตุอาหาร การมีไอออนของเสีย อาทิ เกลือ (โซเดียม) อยู่ในน้ำที่นักปลูกใช้จะทำให้พืชไม่สามารถดูดธาตุอาหารที่สำคัญบางชนิด เช่น โพแทสเซียม ไปใช้ได้อย่างเต็มกำลัง ยิ่งไปกว่านั้น ถ้ามีการเติมปุ๋ยเพิ่มขึ้นในขณะที่ไม่มีการกำจัดโซเดียมออกจากน้ำ จะทำให้ระดับค่านำไฟฟ้าหรือ EC เป็นพิษเพราะมีเกลือและธาตุอาหารตกค้างมากเกินไป ส่งผลเสียต่อสุขภาพของต้นไม้
- ไม่มีสิ่งปนเปื้อนทางกายภาพ เคมี และชีวภาพ เข้ามาทำปฏิกิริยากับธาตุอาหารจนไม่สามารถทำละลายกับน้ำได้ นอกจากจะเป็นอุปสรรคต่อการดูดซึมไปใช้ของพืชแล้ว ยังทำให้เครื่องมือเกิดการอุดตันอีกด้วย
- ไม่มีปัจจัยที่จะทำอันตรายต่อกระบวนการทางชีวภาพ อาทิ จุลิยทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในวัสดุปลูกหรือการควบคุมศัตรูพืชด้วยกระบวนการทางชีวภาพ เป็นต้น
- ไม่มีเชื้อโรคหรือสิ่งที่ทำละลายไม่ได้ขัดขวางกระบวนการฆ่าเชื้อ
- ไม่มีเกลือส่วนเกินที่สร้างปัญหาให้กับพืช เช่น โซเดียมคลอไรด์
ปัญหาที่เกิดจากระดับไอออนเกินขนาดในน้ำ
- ไอรอน: ออกซิไดซ์กลายเป็นสนิมและทำลายอุปกรณ์ปลูก นอกจากนี้เมื่อธาตุอาหารชนิดนี้ออกซิไดซ์แล้วจะไม่สามารถถูกดูดซึมได้ ไอรอนพบเจอมากในน้ำบาดาล ในกรณีที่มีเยอะน้ำจะกลายเป็นสีสนิมเมื่อสัมผัสกับอากาศภายในไม่กี่ชั่วโมง
- ไนโตรเจน: นำไปสู่สภาวะที่พืชโตเกินขนาด แต่ภายในยังพัฒนาไม่ทันทำให้ผลผลิตออกช้า ระบบปลูกที่ดีที่สุดคือการที่นักปลูกสามารถควบคุมปัจจัยต่าง ๆ ได้ทั้งหมด รวมทั้งน้ำที่ใช้ด้วยซึ่งหมายความถึงทราบว่าในน้ำมีส่วนประกอบอะไรบ้าง
ลักษณะของน้ำที่ปนเปื้อนและไม่ได้รับการปรับปรุง
ความหนืดของน้ำ: เป็นน้ำที่มีแร่ธาตุสูง โดยมากมีปริมาณของแคลเซียมและแมกนีเซียมมากเกินไปซึ่งแยกออกจากโครงสร้างไบคาบอนเนต (HCO-) นำไปสู่ความไม่สมดุลของระดับธาตุอาหาร
การมีอยู่ของแคลเซียมเพิ่มความเสี่ยงการเกิดตะกอนสีขาวซึ่งคือแคลเซียมซัลเฟต (CaSO) ซึ่งสามารถเข้าไปอุดตันอุปกรณ์ปลูก ในตลาดมีธาตุอาหารหรือปุ๋ยที่ออกแบบมาเพื่อน้ำชนิดนี้ แต่นักปลูกต้องแน่ใจก่อนว่าน้ำที่ใช้เข้าข่ายนี้จริง ๆ เสียก่อน
ความเค็มของน้ำและดิน: ปริมาณของเกลือ อาทิ โซเดียมคลอไรด์ (NaCl) คาร์บอนเนต (CO2-) และโครงสร้างไบคาร์บอเนต (HCO-) ในดินและน้ำซึ่งสามารถเป็นอันตรายต่อการดูดซึมน้ำของพืชซึ่งนำไปสู่สภาวะขาดน้ำ
แม้ว่าเกลือบางชนิดที่กล่าวถึงจะมีความจำเป็นต่อพืชแต่ปริมาณที่มากเกินไปก็จะส่งผลให้เกิดสภาวะเป็นพิษได้ อย่างไรก็ดีการวัดค่าการนำไฟฟ้าหรือ EC ของน้ำจะสามารถบ่งชี้ค่าเกลือโดยประมาณในน้ำได้ ถ้าค่า EC สูง ค่าเกลือก็อาจจะสูงตาม
สภาพด่าง: คือการวัดปริมาณของไบคาร์บอเนต (HCO3) ในน้ำ ไบคาร์บอนเนตคือสารประกอบอัลคาไลน์ที่ทำให้ค่า pH เพิ่มขึ้น นักปลูกสามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ด้วยการเพิ่มกรดลงไปในน้ำ ซึ่งใช้ถ้าค่าด่างสูงมากก็ใช้วิธีนี้บัฟเฟอร์ได้เช่นกัน
อย่างไรก็ดีการปรับค่า pH ให้อยู่ในจุดสมดุลนั้นเป็นเรื่องที่ทำค่อนข้างลำบาก เพราะฉะนั้นถ้าหากน้ำของนักปลูกคนใดต้องใช้น้ำยาปรับค่า pH เยอะ ๆ และค่า pH ลดลงอย่างรวดเร็ว คุณอาจจะประสบกับปัญหาสภาพด่าง นำไปสู่การอุดตันของอุปกรณ์และปัญหาอื่น ๆ
การตรวจคุณภาพน้ำ
การตรวจสอบคุณภาพน้ำเป็นประจำสามารถทำได้ด้วยการส่งตัวอย่างไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ แต่ในฐานะนักปลูก เราจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้การวัดขั้นพื้นฐานเหล่านี้
- ค่า pH: ค่าความเป็นกรดด่างควรจะอยู่ที่ 7.0 ถ้าหากมีการปนเปื้อนน้ำจะมีความเป็นด่างหรือมีค่า pH สูง การวัดค่า pH สามารถบ่งบอกถึงการปนเปื้อนของน้ำได้
- ค่าการนำไฟฟ้า (EC): น้ำบริสุทธิ์จะไม่มีองค์ประกอบในการสร้างกระแสไฟฟ้า เพราะฉะนั้นค่า EC ควรจะอยู่ที่ศูนย์ การวัดค่าการนำไฟฟ้าจะทำให้นักปลูกพอจะเห็นภาพว่ามีธาตุอาหารไอออน หรือโลหะหนักอื่น ๆ มากน้อยแค่ไหน เพราะปัจจัยเหล่านี้สามารถส่งผลร้ายต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืชได้ ข้อควรระวังคือ แม้ว่าค่า EC จะเท่ากับศูนย์แต่น้ำอาจจะมีสิ่งเจือปนที่ไม่มีไอออนก็ได้
- ลักษณะของน้ำที่สามารถมองเห็นได้: น้ำที่คุณใช้มีลักษณะใสหรือขุ่น น้ำที่มีลักษณะขุ่นมีอนุภาคที่ไม่สามารถทำอะไรได้ซึ่งอาจก่อให้เกิดการอุดตันของอุปกรณ์การปลูกและสิ่งเจือปนที่อาจทำลายพืชได้ อย่างไรก็ดีน้ำที่มีลักษณะใสก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีสิ่งเจือปนอยู่ เพราะฉะนั้นการตรวจคือทางออกที่ดีที่สุด
ทำเมื่อไหร่?
- สำหรับการปลูกในดินหรือวัสดุปลูกอื่น ๆ – ก่อนเติมธาตุอาหาร: นักปลูกไม่อยากซื้อธาตุอาหารที่มีอยู่ในน้ำอยู่แล้วเพราะราคาของปุ๋ยหรือธาตุอาหารไม่ใช่ถูก ๆ ที่สำคัญเราไม่อยากเสี่ยงที่จะทำให้ธาตุอาหารตกตะกอนหรือกลายเป็นพิษต่อพืช เป้าหมายของการวัดคุณภาพน้ำคือการหาสัดส่วนธาตุอาหารที่เหมาะสมใส่ลงไป หรือในกรณีที่น้ำมีค่า pH เกินสมดุลก็จะได้ทำการปรับก่อนผสมธาตุอาหารนั่นเอง
- สำหรับการปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์: คุณจะสามารถตรวจสอบคุณภาพน้ำได้ก็ต่อเมื่อมันไหลเวียนไปทั่วระบบปลูกแล้วเท่านั้น อย่างไรก็ดี อย่าลืมว่าคุณไม่ได้ประเมินคุณภาพน้ำเพียงอย่างเดียวแต่รวมถึงธาตุอาหารและปัจจัยอื่น ๆ ด้วย
“น้ำ” เรื่องที่ดูเหมือนจะกล้วย แต่ไม่กล้วยอย่างที่คิด พี่หมีอยากให้นักปลูกลองสำรวจตรวจสอบและหมั่นสังเกตคุณภาพน้ำที่ตัวเองใช้รดต้นไม้ดูนะครับว่ามีความบริสุทธิ์มากน้อยแค่ไหน จะได้ปรับคุณภาพน้ำก่อนมันจะส่งผลกับต้นไม้ของเรานะครับ
เรื่องง่าย ๆ ที่นักปลูกต้องจำให้แม่น
- โรคในต้นกัญชาที่พบได้บ่อยจากศัตรูพืช แมลง ไวรัส และวิธีรักษาเบื้องต้น (ตอนที่ 1)
- ค่า pH กรด-เบส ส่งผลต่อการดูดซึมอาหารของพืชยังไง – วิธีปรับค่า วัดค่า pH
- ทำความเข้าใจเรื่องค่าการนำไฟฟ้า (EC) + ค่าที่เหมาะกับการปลูกกัญชา
ขอบคุณข้อมูลจาก GrowBook – Bluelab®
ภาพหน้าปกดัดแปลงจาก: Markus Spiske, Hưng Nguyễn Việt, mrjn Photography
หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของเราสามารถคอมเม้นต์ข้างล่างหรือทักไปที่ Facebook ของเราได้เลย