เทคนิคการปลูก

วัสดุปลูกต้นไม้ชนิดต่าง ๆ + ทำความรู้จัก “ดิน” และ “ไฮโดรโปนิกส์”

วัสดุปลูก

เมื่อเราพูดถึงการปลูกต้นไม้ พี่หมีฟันธงว่าร้อยทั้งร้อยก็ต้องคิดถึงภาพการปลูกลงในดินซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์เราทำสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคนนับตั้งแต่มนุษยชาติรู้จักการทำการเกษตร 

ทว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าและประดิษฐกรรมอันชาญฉลาดจากความคิดของมนุษย์ ทำให้เรามีวัสดุปลูกต้นไม้หลากหลายชนิดให้เลือกใช้ อีกทั้งยังเป็นการก้าวข้ามข้อจำกัดที่เคยเป็นปัญหาของคนยุคก่อน เช่น การทำการเกษตรในพื้นที่ที่จำกัดด้วยระบบไฮโดรโปนิกส์ เป็นต้น

image 2

ภาพ: @pavlenk / Unsplash

การที่ต้นไม้สุขภาพดีต้องมีรากที่แข็งแรง ต้นไม้จะมีรากที่แข็งแรงได้จำเป็นต้องมีวัสดุปลูกที่เหมาะสม โดยวัสดุปลูกมีมากมายหลายชนิดให้เราเลือกใช้ ตั้งแต่วัสดุที่เราคุ้นชินเป็นอย่างดิน ไปจนถึงวัสดุปลูกอื่นที่ไม่ใช้ดินเลย

เพื่อไม่ให้สับสน พี่หมีขอแยกวัสดุปลูกออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ วัสดุปลูกที่มีสถานะเป็นของแข็งซึ่งรวมถึงดินด้วย และแบบที่มีสถานะเป็นของเหลวหรือการใช้ปุ๋ยละลายลงไปในน้ำโดยตรงไม่ต้องผ่านชั้นดินหรือวัสดุอื่นใด ซึ่งปัจจุบันนี้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อ ”ไฮโดรโปนิกส์” 

ก่อนที่เราจะไปทำความรู้จักวัสดุปลูกต้นไม้แต่ละประเภท พี่หมีอยากให้ทุกคนคำนึงถึงคุณสมบัติด้านล่างเหล่านี้ซึ่งถือว่าเป็นมาตรฐานที่วัสดุปลูกพึงมี

  • มีอากาศไหลผ่านตลอดเวลา
  • มีน้ำเข้าถึงรากเพื่อให้พืชอิ่มน้ำ
  • มีช่องระบายน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหารากเน่า
  • มีปุ๋ยและธาตุอาหารที่เพียงพอเข้าไปหล่อเลี้ยงบริเวณรากของพืชในปริมาณที่เหมาะสมและสม่ำเสมอ

ในกรณีที่ใช้วัสดุปลูกแบบแข็งเราควรคำนึงถึงความหยาบและละเอียดของวัสดุที่เราใช้ เพราะทั้งสองปัจจัยนี้ส่งผลโดยตรงต่อปริมาณของออกซิเจนและไอออนปุ๋ยรวมถึงน้ำไปสู่ต้นไม้ของเรา


“ไฮโดรโปนิกส์” ปลูกได้ไม่ใช้ดิน


image 5
วัสดุปลูกต้นไม้ชนิดต่าง ๆ + ทำความรู้จัก “ดิน” และ “ไฮโดรโปนิกส์” 11

ภาพ: Rural Living Today

คำว่าไฮโดรโปนิกส์อาจจะดูเป็นศัพท์วิทยาศาสตร์ที่เราเพิ่งเคยได้ยินเมื่อไม่กี่ปีมานี้ แต่ความจริงแล้ว “ไฮโดรโปนิกส์” มาจากคำศัพท์ในภาษากรีก อย่างคำว่า “ไฮโดร” ซึ่งหมายถึงน้ำและ “โปโนส” หมายถึงแรงงาน ถ้าแปลตรงตัวจะแปลว่า “แรงงานน้ำ”

การปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์นี้สามารถเพิ่มผลผลิตได้มากกว่าการปลูกในดินแบบธรรมดา เนื่องจากต้นไม้ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้พลังงานไปกับการสร้างโครงสร้างของรากที่สลับซับซ้อนเหมือนกับในดินเพื่อเสาะแสวงหาธาตุอาหาร และใช้พลังงานนั้นมาพลิกดอกออกผลและทำให้ส่วนยอดโตขึ้นแทน 

ข้อดีของการปลูกผักระบบไฮโดรโปนิกส์คือเกษตรกรสามารถควบคุมสภาพแวดล้อมในการปลูกได้เกือบทั้งหมด หมายความว่าเราสามารถที่จะปรับสิ่งแวดล้อมในฟาร์ม เช่น อุณหภูมิ แสง ความชื้น ให้เหมาะสมกับความต้องการของพรรณพืชของเรามากที่สุด 

ประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมอีกข้อคือระบบปลูกไฮโดรโปนิกส์ไม่จำเป็นที่จะต้องพึ่งพาผืนดินจำนวนมาก ความคล่องตัวนี้เป็นประโยชน์ให้กับคนหลายฝ่าย เพราะเอื้อให้เจ้าของกิจการสามารถปลูกในโรงเรือนที่ใกล้กับบริเวณพื้นที่จัดจำหน่าย ช่วยลดต้นทุนในการขนส่ง อีกทั้งยังทำให้ผลิตผลยังคงสดใหม่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและสารอาหารครบถ้วนเมื่อถึงมือของผู้รับ

เนื่องจากเป็นระบบที่ต้องพึ่งพาการใช้น้ำเป็นหลัก การมีแหล่งน้ำที่สะอาดเข้าถึงได้สะดวกถือว่าเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตามสิ่งที่น่าสนใจคือระบบปลูกแบบไฮโดรโปนิกส์จะใช้น้ำน้อยกว่าระบบปลูกแบบใช้ดินทั่วไปอยู่ประมาณ 80 ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ซึ่งนับว่าเป็นตัวเลขที่สำคัญมากเพราะโลกของเราใช้น้ำจืดไปกับการเกษตรและการเพาะปลูกกว่า 70 เปอร์เซ็น 

อ่าน>> รู้จักคุณภาพน้ำดีแล้วหรือยัง? วัดคุณภาพน้ำยังไง?


วัสดุปลูกแบบแข็งในท้องตลาด


  1. กาบมะพร้าว (Coconut coir)
image 1

เยื่อของเปลือกมะพร้าวหรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า “กาบมะพร้าว” หรือเป็นวัสดุปลูกที่นิยมใช้กันโดยทั่วไปในประเทศไทยเพราะสามารถหาได้ง่ายในภูมิภาคของเรา 

ข้อดี 

  • เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
  • ราคาไม่แพงหรือฟรี
  • มีความพรุนหรือช่องว่างกว้างมาก

ข้อเสีย

  • อาจจะมีการปนเปื้อนของเกลือในปริมาณสูง จำเป็นต้องมีการปรับสภาพก่อนใช้งาน
  • สามารถปล่อยธาตุอาหารที่เราไม่ต้องการออกมาปนเปื้อนกับปุ๋ยของเรา การแก้ปัญหานี้จำเป็นที่จะต้องใช้ปุ๋ยสูตรพิเศษสำหรับกาบมะพร้าวเท่านั้น
  • ย่อยสลายช้า (ไม่ใช่ปัญหาใหญ่)
  1. เพอร์ไลท์/หินอสัณฐานภูเขาไฟ (Perlite)
image 2

เพอร์ไลท์เป็นหินภูเขาไฟตามธรรมชาติ มีโครงสร้างการจัดวางเรียงตัวที่ไม่แน่นอนตอนมีหลายรูปทรงแตกต่างกันไป มีทั้งสีขาว ดำ และเทา

ข้อดี

  • มีความพรุนสูง
  • ไม่ต้องเตรียมพร้อมก่อนใช้งาน
  • มีค่ากรดเบสหรือ pH เป็นกลาง
  • สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หลังจากทำความสะอาด
  • เป็นวัสดุที่มีคุณสมบัติเฉื่อย หมายความว่าไม่ทำปฏิกิริยากับสารเคมีหรือสิ่งเร้าได้ง่าย

ข้อเสีย

  • เพอไลท์มีน้ำหนักที่เบาเกินกว่าจะใช้เป็นวัสดุปลูกเดี่ยวได้จึงจำเป็นที่จะต้องนำไปผสมกับวัสดุอื่น ๆ เช่น ดินเป็นต้น
  • ไม่มีประสิทธิภาพในการอุ้มน้ำ (ถือว่าเป็นข้อดีถ้าต้องการการระบายน้ำที่ดี)
  1. ก้อนดินเหนียว (Clay pebbles)
image 3

ดินเหนียวที่นำมาปั้นเป็นก้อนกลมและนำไปผ่านความร้อนเพื่อให้คงตัว

ข้อดี  

  • อุ้มน้ำได้ดีเยี่ยม
  • สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างด้วยการบดเพื่อให้การระบายน้ำดีขึ้น
  • ไม่ทำปฏิกิริยากับสารเคมี
  • นำกลับมาใช้ใหม่ได้และทนทาน

ข้อเสีย

  • ต้องรดน้ำในปริมาณที่มากขึ้น 
  • ถ้ารดน้ำไม่เพียงพอจะลอย
  • ต้องล้างทำความสะอาดเพื่อกำจัดฝุ่นก่อนนำไปใช้เพื่อป้องกันการอุดตันอุปกรณ์ต่าง ๆ
  • เนื่องจากมีความหนาแน่นน้อยจึงไม่เหมาะที่จะใช้เพื่อการเพาะเมล็ด เพราะเมล็ดอาจจะตกลงไปที่ก้นกระถางได้
  1. ฉนวนใยหิน (Stone wool)
image 4

ฉนวนใยหินเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในวงการเกษตร ทำมาจากเศษวัสดุหินประเภทต่าง ๆ เช่น หินบะซอลต์ เป็นต้น

ข้อดี  

  • เป็นวัสดุที่มีความเฉื่อย
  • อุ้มน้ำได้ดี
  • ช่วยให้รากของต้นไม้ระบายอากาศได้ดี
  • มีหลายขนาดและรูปทรงให้เลือก สามารถสั่งทำได้

ข้อเสีย

  • มีค่ากรดเบสหรือ pH ที่ค่อนข้างสูงเนื่องจากส่วนผสมที่เป็นหินบะซอลต์ทำให้ต้องมีการบัฟเฟอร์ก่อนนำไปใช้
  • มีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดอาการรากเน่า
  • ทำให้เกิดการระคายต่อผิวและปอด

วัสดุปลูกบางชนิดสามารถนำมาใช้เป็นวัสดุปลูกหลักหรือจะนำไปผสมกับวัสดุปลูกชนิดอื่น ๆ เพื่อให้ได้วัสดุปลูกที่มีคุณสมบัติเหมาะสมกับต้นไม้ที่เรากำลังปลูกมากที่สุด ซึ่งนับว่าเป็นการมิกซ์แอนด์แมทช์คุณสมบัติที่มีในแต่ละวัสดุนั่นเอง 


“ดิน” วัสดุปลูกยอดนิยมตลอดกาล


image 1

ภาพ: @tylilo / Unsplash

ดินมีองค์ประกอบที่หลากหลายแปรผันไปตามสภาพพื้นที่และปัจจัยอื่น ๆ ซึ่งแตกต่างกันไปทั่วโลก แต่ก็มีองค์ประกอบหลักร่วมกัน ได้แก่ อากาศ แร่ธาตุ น้ำ และซากพืชซากสัตว์ที่ทับถมกัน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนช่วยประกอบสร้างระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กหรือจุลินทรีย์ที่มีความหลากหลายที่มีประโยชน์ต่อพืช

องค์ประกอบทางเคมีก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการดูดซับแร่ธาตุและสารอาหารในดิน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงต่อความสามารถของพืชในการดูดซึมธาตุอาหารเหล่านี้ไปใช้ โดยองค์ประกอบทางเคมีในที่นี้มักจะหมายถึงค่า “ความจุแลกเปลี่ยนแคตไอออน (cation exchange capacity)” เป็นตัวใช้บ่งชี้ปริมาณสารอาหารในดิน 

ดินเหนียวและซากพืชซากสัตว์ (หลายคนอาจรู้จักกันในชื่อ ฮิวมัส [humus]) เป็น 2 องค์ประกอบที่มีไอออนประจุลบซึ่งโดยธรรมชาติจะดึงดูดไอออนประจุบวกซึ่งก็คือประจุของไอออนที่เป็นสารอาหารเกือบทั้งหมดนั่นเอง ช่วยเพิ่มความสามารถในการดูดซึมสารอาหารของพืชที่อยู่ในดินเพราะสารอาหารอยู่กับที่และส่งผลให้มีค่ากรดเบสหรือ pH ที่เป็นธรรมชาติ

ความสามารถของดินในการลดการเปลี่ยนแปลงของค่า pH สร้างความเสถียรให้กับความสามารถในการละลายของไอออนธาตุอาหารในกรณีที่ค่า pH ตามธรรมชาติตรงกับช่วงค่าระดับพิสัยการทำละลายของไอออนนั้น ๆ 

แต่ดินที่ต่างชนิดกันก็มีค่า pH ที่แตกต่างกันออกไปอันเป็นปัจจัยมาจากองค์ประกอบของดินนั่นเองและแน่นอนว่าส่งผลโดยตรงต่อความสามารถในการละลายของไอออน

แม้ว่าพืชจะสามารถปรับตัวให้เข้ากับสิ่งรอบข้างได้ แต่ละสายพันธุ์ก็มีจุดอ่อนและเงื่อนไขทางสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นชินทำให้เกิดอาการขาดสารอาหารได้ ตัวอย่างเช่น บลูเบอร์รี่และต้นสนสามารถโตได้ดีในดินที่มีค่า pH ต่ำและไม่พบกับสภาวะขาดสารอาหาร นั่นเป็นเพราะว่าพืชแต่ละสายพันธุ์เหมาะกับค่าพิสัย pH ที่ต่างกันออกไป

image

ภาพ: @memoryonsounds / Unsplash

สิ่งที่เราทำได้และควรทำคือวัดค่า pH ของดินก่อนที่จะทำการปลูกพืชใดใดเพื่อใช้ประเมินว่าดินนี้เหมาะที่จะใช้ปลูกพืชหรือสายพันธุ์พืชใดมากที่สุด ในทางกลับกันถ้าต้นไม้ที่คุณกำลังปลูกอยู่ดูแคระแกรนหรือโตช้าผิดปกติ นักปลูกก็ควรที่จะวัดค่า pH ในดินที่ใช้ซึ่งอาจทำให้รู้สาเหตุและแก้ไขได้ถูกต้อง 

หลักการทำงานของการดูดซึมธาตุอาหารไม่ต่างอะไรกับไฮโดรโปนิกส์นั่นคือน้ำในดินจะพาธาตุอาหารที่ละลายแล้วไปสู่บริเวณรากพืช แต่สิ่งที่ต่างกันคือธาตุอาหารจะไม่ได้อยู่ในน้ำโดยตรงแต่จะมาจากซากพืชซากสัตว์ ซึ่งผ่านการย่อยสลายของสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ หรือจุลินทรีย์

จุลินทรีย์เหล่านี้มีหน้าที่สำคัญในการรักษาและพัฒนาความอุดมสมบูรณ์ของพื้นดินอีกทั้งยังช่วยให้ต้นไม้ที่อยู่ในดินเจริญเติบโต ตัวอย่างเช่น กระบวนการไนตริฟิเคชัน คือการเปลี่ยนแปลงสารประกอบไนโตรเจนไปเป็นไนไตรท์และไนเตรทโดยแบคทีเรีย ทำให้พืชสามารถดูดซึมนำไปใช้ได้

เราสามารถพบกับจุลินทรีย์ในสิ่งแวดล้อมตลอดเวลาเราจะสามารถพบจุลินทรีย์ได้ทั่วไปในบริเวณรากของพืช ไม่ว่าจะเป็นวัสดุปลูกชนิดใดก็ตาม 

image

ภาพ: Maria Louis Design

การที่เรารู้คุณสมบัติของวัสดุปลูกชนิดต่าง ๆ ที่มีขายทั่วไปในท้องตลาด จะช่วยให้เราสามารถตัดสินใจเลือกวัสดุที่เหมาะกับชนิดของต้นไม้ที่เรากำลังจะปลูกได้ถูกต้องมากขึ้นแล้วจะเป็นผลดีต่อตัวต้นไม้เอง

นอกจากจะได้วัสดุที่เหมาะสมแล้วเรายังสามารถประหยัดเงินในกระเป๋าจากการสุ่มตัดสินใจซื้อของแต่สุดท้ายก็ไม่ได้ใช้ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ ในกลุ่มผู้ที่เริ่มปลูกต้นไม้เป็นงานอดิเรกและมักจะช้อปปิ้งออนไลน์ 

บทความอื่น ๆ ของพี่หมี

ขอบคุณข้อมูลจาก GrowBook – Bluelab®


ภาพหน้าปกดัดแปลงจาก: Unsplash

หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ของเราสามารถคอมเม้นต์ข้างล่างหรือทักไปที่ Facebook ของเราได้เลย

One thought on “วัสดุปลูกต้นไม้ชนิดต่าง ๆ + ทำความรู้จัก “ดิน” และ “ไฮโดรโปนิกส์”

  1. Wuttipat Sassanathai พูดว่า:

    ดีมากเลยครับ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *